เลือก DW แบบไหน ให้ถือได้นาน และมีต้นทุนการถือครองต่ำ

นักลงทุนบางส่วนอาจจะประสบปัญหาที่ไม่สามารถถือครอง DW ได …


นักลงทุนบางส่วนอาจจะประสบปัญหาที่ไม่สามารถถือครอง DW ได้นานเนื่องจากเผชิญกับต้นทุนการถือครอง DW หรือต้นทุน Time Decay (อัตราการลดลงของมูลค่า DW เมื่อใกล้วันครบกำหนดอายุ) ที่สูง ส่งผลให้นักลงทุนต้องขายคืน DW ก่อนที่ราคาสินค้าอ้างอิงจะเคลื่อนไหวตามที่คาดการณ์ และพลาดโอกาสในการทำกำไรในบางจังหวะ

ดังนั้นการเลือก DW ที่มีต้นทุน Time Decay เหมาะสมกับกรอบระยะเวลาการลงทุนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการลงทุนใน DW โดยในปัจจุบันนักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลของ DW แต่ละตัวและนโยบายในการคำนวณต้นทุน Time Decay ได้จากผู้ออกแต่ละรายก่อนเริ่มลงทุน

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำเสนอหนึ่งในวิธีการเลือก DW  ให้เหมาะสมกับกรอบระยะเวลาการลงทุนของนักลงทุน โดยพิจารณาจากสถานะของ DW และวิธีการคำนวณต้นทุน Time Decay จากผู้ออกแต่ละราย ดังนี้

  1. การพิจารณาเลือก DW จากสถานะของ DW (Moneyness) ณ ขณะนั้นDW มี 3 สถานะคือ In the Money (ITM), Out of the Money (OTM) และ At the Money (ATM)โดย ITM DW จะมีต้นทุน Time Decay น้อยกว่า DW สถานะอื่น ๆ  หากนำมาเปรียบเทียบกัน แต่ ITM DW มีข้อเสียคือมี ราคา DW ต่อหน่วยสูงเมื่อเปรียบเทียบกับ OTM DW หรือ ATM DW ที่มีสินค้าอ้างอิง, วันครบกำหนดอายุ และอัตราใช้สิทธิ ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามนักลงทุนต้องตรวจสอบค่า Time Decay อย่างสม่ำเสมอเนื่องจาก การเคลื่อนไหวของราคาสินค้าอ้างอิงส่งผลให้สถานะของ DW เปลี่ยนแปลงไปและส่งผลให้ต้นทุน Time Decay เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นเดียวกัน
  1. เลือกพิจารณาผู้ออกที่มีวิธีการคำนวณต้นทุน Time Decay เหมาะสมกับกรอบระยะเวลาการลงทุน
    เพื่อให้คาดการณ์ต้นทุน Time Decay ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น นักลงทุนควรสอบถามกับทางผู้ออก DW ว่ามีนโยบาย การคำนวณต้นทุน Time Decay ในรูปแบบไหน เช่น คำนวณต้นทุน Time Decay ระหว่างวันหรือเมื่อสิ้นวัน, คำนวณต้นทุน Time Decay ในช่วงวันหยุดหรือไม่ เป็นต้น Time Decay เทียบเคียงได้กับอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงิน เนื่องจากการลงทุนใน DW มีอัตราทด (Leverage) ดังนั้น Time Decay จึงเป็นเสมือนต้นทุนในการเพิ่มอัตราทดให้กับการลงทุนใน DW หากเปรียบเทียบการคำนวณ Time Decay กับดอกเบี้ยแล้วนั้น สามารถพิจารณาหลักการได้ดังนี้
  • ดอกเบี้ยหรือ Time Decay ที่ถูกคำนวณทุกสิ้นวันจะมีความแตกต่างกับดอกเบี้ยที่ถูกกระจายคิดระหว่างวัน เนื่องจากการคิดดอกเบี้ย เฉพาะ ณ สิ้นวัน จะง่ายกับนักลงทุนในการวางแผนการลงทุนมากกว่าโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกคำนวณดอกเบี้ยระหว่างวันเมื่อใด ซึ่ง DW41 ของเจพีมอร์แกนจะเป็นแบบคำนวณ Time Decay ทุกสิ้นวัน
  • ดอกเบี้ยที่คิดเฉพาะวันทำการจะส่งผลให้ดอกเบี้ยที่ถูกคำนวณในระหว่างวันทำการสูงกว่ากรณีที่คำนวณ ดอกเบี้ยทั้งวันทำการและวันหยุด เนื่องจากมูลค่าดอกเบี้ยมีการกระจายตัวเฉพาะระหว่างวันทำการ ดังนั้นดอกเบี้ยในแต่ละวันทำการจึงมีมูลค่าต่อวันสูง ถึงอย่างไรก็ตามหากการคำนวณดอกเบี้ยหรือ Time Decay เฉพาะวันทำการก็อาจจะเหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการถือ DW ข้ามวันหยุดยาว เนื่องจากไม่มีต้นทุนในการถือครองข้ามวันหยุด ในขณะที่การคำนวณ Time Decay ทุกวันปฏิทินจะเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการถือ DW เฉพาะในช่วงวันทำการเนื่องจากมีต้นทุนต่อวันถูกกว่า ซึ่ง DW41 ของเจพีมอร์แกนจะเป็นแบบคำนวณ Time Decay ทุกวันปฏิทิน

นอกจากเทคนิคข้างต้นแล้วนั้น นักลงทุนสามารถเลือกใช้ตัวชี้วัดเกี่ยวกับ Time Decay อื่น ๆ ที่ประกาศโดยผู้ออกแต่ละราย ซึ่งทาง DW41 ของเจพีมอร์แกน ได้นำเสนอตัวชี้วัดค่าหนึ่งที่คำนวณโดยเจพีมอร์แกน คือ “จำนวนวันเฉลี่ยที่ราคา DW ลดลง 1 ช่องราคา2”  เพื่อเป็นเครื่องมือให้นักลงทุนใช้ในการพิจารณาผลกระทบของ Time Decay ในการเลือกลงทุนใน DW  ตัวอย่างเช่นกรณี จำนวนวันเฉลี่ยที่ราคา DW ลดลง 1 ช่องราคา เท่ากับ  3.76 วัน แปลว่า ณ ราคาสินค้าอ้างอิงปัจจุบัน นักลงทุนสามารถถือ DW ได้ประมาณ 3 วันปฏิทิน (ปัดเศษทศนิยมลง) โดยไม่ถูกคำนวณต้นทุน Time Decay 1 ช่องราคา

โดยการใช้ค่าชี้วัดดังกล่าว นักลงทุนสามารถวางแผนกรอบระยะเวลาการลงทุนเพื่อได้รับผลตอบแทนที่เป็นไปได้อย่างเหมาะสมที่สุดโดยไม่ถูกคำนวณต้นทุน Time Decay นักลงทุนควรทำความเข้าใจในการใช้ค่าชี้วัดดังกล่าวให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุน DW โดยตรวจสอบจำนวนวันเฉลี่ยที่เหลืออยู่ก่อนที่จะถูกคำนวณค่าต้นทุน Time Decay3 เพื่อเลือกจังหวะการเข้าลงทุน DW ที่เหมาะสม  นอกจากนั้น ค่าชี้วัดดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปจากในขณะที่วางแผนไว้ได้ หากราคาสินค้าอ้างอิงมีการเปลี่ยนแปลงสูงอย่างฉับพลัน

นักลงทุนสามารถติดตามเทคนิคการลงทุนใน DW และตราสารอนุพันธ์กับเจพีมอร์แกนได้ใหม่ในบทความฉบับหน้า

หากสนใจลงทุนใน DW หรือมีข้อสงสัย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก JPMorganDW41.com หรือโทร 02-684-2600

– ทำความเข้าใจลักษณะสินค้าเงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน –

1 วิธีการดูสถานะของ DW

Call DW

In the Money (ITM): ราคาสินค้าอ้างอิง สูงกว่า ราคาใช้สิทธิของ DW
Out of the Money (OTM) : ราคาสินค้าอ้างอิง น้อยกว่า ราคาใช้สิทธิของ DW
At the Money (ATM) : ราคาสินค้าอ้างอิง เท่ากับ ราคาใช้สิทธิของ DW

Put DW

In the Money (ITM): ราคาสินค้าอ้างอิง น้อยกว่า ราคาใช้สิทธิของ DW
Out of the Money (OTM): ราคาสินค้าอ้างอิง สูงกว่า ราคาใช้สิทธิของ DW
At the Money (ATM): ราคาสินค้าอ้างอิง เท่ากับ ราคาใช้สิทธิของ DW

2 ช่องราคาของ DW เป็นไปตามหลักเกณฑ์ช่วงราคาการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

3 นักลงทุนสามารถตรวจสอบระยะเวลาคงเหลือก่อนถูกคำนวณต้นทุน Time Decay ตามจำนวณวันเฉลี่ยได้จากตารางราคารับซื้อคืน 

คำเตือน

*บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นทั่วไปสำหรับประกอบการพิจารณาเพื่อลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และมิได้เป็นส่วนหนึ่งของการเสนอ การขาย หรือการแนะนำให้ซื้อหรือขายผลิตภัณฑ์ใด ๆ เป็นการเฉพาะเจาะจง บทความนี้มิใช่การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ธุรกิจ การลงทุน หรือภาษีอากร ผู้ลงทุนต้องตัดสินใจในการลงทุนด้วยตนเอง และควรปรึกษาที่ปรึกษาทางกฎหมาย ธุรกิจ การลงทุน และภาษีอากรเกี่ยวกับข้อมูลสำหรับการลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ด้วยตนเอง

การลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์มีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน มูลค่าของเงินลงทุน รวมถึงรายได้จากการลงทุนสามารถลดลงหรือเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนในอนาคตไม่สามารถรับประกันได้ และผู้ลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนคืนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

Back to top button