KTB เผยปี 63 ปิดสาขาเพิ่ม 50-70 แห่ง ตั้งเป้าสินเชื่อปี 63 โต-คุม NPL ต่ำ

KTB เผยปี 63 จ่อปิดสาขาเพิ่ม 50-70 แห่ง ตั้งเป้าสินเชื่อปี 63 โต-คุม NPL ต่ำ


นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ธนาคารยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนดำเนินงานในปี 63 เบื้องต้นตั้งเป้าสินเชื่อรวมในปีหน้าเติบโต 2.7-3% ใกล้เคียงกับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.8-3% โดยถือว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อในปีหน้าจะสูงขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้แค่ราว 1-2%

โดยธนาคารมองว่าการเติบโตของสินเชื่อในปีหน้า หลักๆ จะมาจากสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อภาครัฐ และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสินเชื่อรายใหญ่ที่มีแผนจะรุกเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อให้กับคู่ค้าของลูกค้าเดิมของธนาคาร เพื่อเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ธนาคารมีอยู่ให้เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มกลับมาให้กับธนาคาร และเป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ไปในตัว ทำให้การเติบโตของธนาคารยังมีช่องทางที่สามารถขยายไปได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันในฐานะ KTB เป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งหนึ่ง ธนาคารจึงยังคงมีการสนับสนุนการให้บริการทางด้านการเงินต่างๆ ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างการเติบโตให้แก่ประเทศไทย

อีกทั้งเพื่อตอกย้ำ Positioning ของธนาคารที่ให้ความสำคัญ 5 Ecosystem ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ในการเชื่อมโยงบริการทางการเงินจากภาครัฐสู่ประชาชน, กลุ่มการชำระเงิน โดยพัฒนานวัตกรรมการชำระเงินที่ครบวงจรเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า, กลุ่มรักษาพยาบาลและสุขภาพ ขยายบริการทางการเงินผ่าน Krungthai Corporate Online บริการจ่ายเงินเดือน บริการจ่ายเงินคู่ค้าด้วยระบบโอนเงินอัตโนมัติ และยกระดับบริการสู่ Smart Hospital

รวมถึงกลุ่มสถาบันการศึกษาและนักเรียนโดยพัฒนา University แอปพลิเคชัน เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงทุกมิติการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล และกลุ่มขนส่ง ด้วยการติดตั้งระบบการชำระเงินด้วย QR Code ติดตั้งเครื่อง EDC เพื่อรับชำระเงินในรถโดยสารขบสมก.3,000 คัน ซึ่งเป็นการตอกย้ำภาพการเป็น Invisible Banking อย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ KTB มีแอปพลิเคชัน Krungthai Next เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากถึง 7 ล้านราย มียอดทำธุรกรรมกว่า 1 พันล้านรายการ เฉพาะบริการไอแบงก์กิ้งผ่าน Krungthai Connext มีผู้ใช้งาน 5 ล้านราย ส่วนบัตร Krungthai Travel card มีผู้ถือกว่า 500,000 ราย ผู้กู้ยืมกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 5 ล้านราย ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านราย โครงการชิมช้อปใช้ที่ให้บริการแอปพลิเคชันเป๋าตังกับประชาชน 15 ล้านราย แอปพลิเคชันถุงเงินกับร้านค้า 1.6 แสนแห่ง ตลอดจนร้านค้าธงฟ้าจำนวน 8.8 หมื่นรายทั่วประเทศ ทำให้ธนาคารมีฐานลูกค้าและประชาชนมากกว่า 40 ล้านราย ซึ่งเป็น Ecosystem ที่ผลักดันการขยายตัวของธนาคารในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะพยายามรักษาผลการดำเนินงานไม่มีความผันผวน ผ่านการควบคุมและดูแลเสถียรภาพของธนาคารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการบริหารจัดการหนี้ที่ธนาคารมีระบบการจัดชั้นลูกหนี้ใหม่ ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดหนี้เสีย (NPL) ลง ผนวกกับการขายหนี้ออกไปรวมด้วย ทำให้แนวโน้มของ NPL ในปี 63 คาดว่าจะลดลงมาต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และทำให้การตั้งสำรองฯ คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีนี้

โดยที่ธนาคารจะพยายามรักษาระดับสัดส่วนการตั้งสำรองต่อหนี้สูญ (Coverage ratio) ในปีหน้าให้อยู่ในระดับ 120-130% จากปัจจุบัน 128% ขณะเดียวกันยังมีการควบคุมต้นทุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และทำให้ผลการดำเนินงานออกมาเป็นที่พอใจ

นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเดินหน้าการลงทุนระบบไอทีอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้การดำเนินงานของธนาคารดีขึ้น และลดปริมาณการใช้กระดาษลง ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะใช้งบลงทุนไอทีใกล้เคียงกับปีนี้ ส่วนการปรับลดสาขาวางแผนจะปิดสาขาอีก 50-70 สาขาในปี 63 ส่วนใหญ่เป็นสาขาที่อยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นเป็นไปตามกลยุทธฺการดำเนินธุรกิจที่เน้นการให้บริการลูกค้าในต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลัก ขณะที่มีนโยบายให้พนักงานเรียนรู้เพิ่มทักษะใหม่ๆ ย้ายแผนกทำงานเพื่อให้เรียนรู้งานหลากหลาย แต่ไม่มีนโยบายปลดพนักงาน

Back to top button