กสทช. ดึง 700MHz กลับเข้าประมูล 5G ขีดเส้นเอกชนยื่นความจำนง 4 ก.พ.63

กสทช. ดึง 700MHz กลับเข้าประมูล 5G ขีดเส้นเอกชนยื่นความจำนง 4 ก.พ.63


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงว่า ที่ประชุมกรรมการกสทช.มีมติให้จัดประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่านความถี่ คือ คลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ  (MHz) คลื่น 1800 MHz คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 กิกะเฮิร์ตซ (GHz) โดยการประมูลจะประมูลแบบมัลติแบนด์ ใช้วิธี Clock Auction ในวันที่ 16 ก.พ.63

ทั้งนี้ การนำคลื่น 700 MHz กลับมาจัดประมูลอีกครั้งเนื่องจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ได้ทำหนังสือแจ้งความต้องการที่จะประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว

สำหรับรายละเอียดในการจัดสรรคลื่นความถี่ ย่าน 700 MHz จำนวนที่นำมาประมูล 15 MHz แบ่งเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ สามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 3 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 8,792 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 10 งวด งวดละร้อยละ 10 ของราคาที่ประมูลได้ โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,637.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,319 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

โดยคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 35 MHz แบ่งออกเป็น 7 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 4 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 12,486 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตร้อยละ 50  ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 ชำระร้อยละ 25  ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 3 ชำระร้อยละ 25  ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 4,994.40 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,873 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวน 190 MHz แบ่งออกเป็น 19 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 10 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 7 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระร้อยละ 10 ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) ชำระร้อยละ 15 ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้ชนะการประมูลต้องมีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมร้อยละ 40 ขอพื้นที่ EEC ภายใน 1 ปี และครอบคลุมร้อยละ 50  ของจำนวนประชากรของ Smart City ภายใน 4 ปี โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 1,862 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 280 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

ด้านคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 270 MHz แบ่งออกเป็น 27 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 12 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 423 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 22 ล้านบาท กำหนดการชำระเงินค่าประมูลงวดเดียว โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 507.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 64 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

สำหรับวิธีการประมูล สำนักงาน กสทช. กำหนดระยะเวลาการ Mock Auction ให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประมูลมีความเข้าใจ และคุ้นเคยกับระบบการประมูล โดยจะให้ประมูลไปทีละคลื่นความถี่เรียงลำดับจากคลื่น 700 MHz คลื่น 1800 MHz คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz โดยหากในวันที่ 4 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดในการยื่นแสดงความจำนงเข้าประมูลคลื่นความถี่ไม่มีผู้มายื่นย่านใดย่านหนึ่งในการประมูลจะไม่มีการประมูลคลื่นในย่านนั้น

ส่วนความคืบหน้าในการจัดการประมูล กสทช.คาดว่าจะนำร่างหลักเกณฑ์ในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปหมดแล้วประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ในวันที่ 27 ธ.ค. 2562 ตามกรอบระยะเวลาการประมูลที่วางไว้ ทำให้ กสทช. สามารถจัดการประมูล 5G ได้ ในวันที่ 16 ก.พ.63 ตามแผนการที่วางไว้ คาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ปลายเดือน ก.พ.63 และผู้รับใบอนุญาตสามารถเริ่มติดตั้งโครงข่ายได้ตั้งแต่เดือน มี.ค.63 ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนคาดว่า ในเดือน มิ.ย.-ก.ค.63 จะสามารถเปิดให้บริการในพื้นที่ EEC ย่านใจกลางเมือง ซึ่งการเปิดให้บริการดังกล่าวจะใกล้เคียงกับการเปิดบริการ 5G ของประเทศญี่ปุ่นที่มีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในเดือน ก.ค.63

Back to top button