ย้อนรอยดราม่าคู่เดือด! CPN ปะทะ AOT
หลังจากยืดเยื้อกันมานานพอสมควรสำหรับปัญหาของ 2 องค์กรให …
หลังจากยืดเยื้อกันมานานพอสมควรสำหรับปัญหาของ 2 องค์กรใหญ่ อย่างกลุ่ม “เซ็นทรัลพัฒนา” เจ้าของโครงการสุดหรู “เซ็นทรัล วิลเลจ” กับ “การท่าอากาศยาน” หรือ ทอท. ในประเด็นเรื่องการเปิดห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล วิลเลจ ซึ่งกว่าจะเปิดให้บริการได้นั้น ต้องผ่านการสู้รบมาหลายยกชนิดถึงโรงถึงศาล
โดยกรณีดังกล่าวเริ่มต้นจาก นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ประกาศเปิดตัวโครงการหรู “เซ็นทรัล วิลเลจ” ลักชูรี่ เอาท์เล็ต แห่งแรกในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ มูลค่าการลงทุน 5,000 ล้านบาท บนที่ดินทำเลทอง 100 ไร่ ติดสนามบินสุวรรณภูมิ และมีกำหนดการเปิดในวันที่ 31 ส.ค.62
ซึ่งหลังจาก CPN ประกาศเปิดตัว “เซ็นทรัล วิลเลจ” ได้ไม่นาน ทางฝั่ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) เพื่อสอบถามความเหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของเซ็นทรัล วิลเลจ ที่เห็นว่าอาจจะขัดกับเงื่อนไขกฎเกณฑ์การบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตามเงื่อนไขพัฒนาพื้นที่รอบสนามบิน รวมทั้งกรณีการใช้พื้นที่โดยพลการในการก่อสร้างแนววางท่อประปาโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
โดย ทอท. ได้นำรถ อุปกรณ์ และตั้งเต็นท์ปิดทางเข้าออกโครงการ ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค 62 ส่งผลให้ร้านค้าและผู้รับเหมาต้องเดินเท้าขนอุปกรณ์เข้าไปในโครงการเพื่อตกแต่งร้านค้า ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ เซ็นทรัลพัฒนา เจ้าของโครงการ “เซ็นทรัล วิลเลจ” ได้ร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว ให้ ทอท. เปิดทางเข้าออกโครงการ และศาลปกครองขั้นต้นได้พิจารณาออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้ ทอท. เปิดทางเข้าออกโครงการ
อย่างไรก็ตาม ด้วยทำเลที่ตั้งของห้างเซ็นทรัล วิลเลจ นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าแทบจะตั้งอยู่ข้างรันเวย์สุวรรณภูมิ ห่างจากรันเวย์ไม่ถึง 2 กม.ประกอบด้วยกิจกรรมในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนบรรดาสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลายที่ล้วนเป็น luxury Outlet ที่แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ AOT เพิ่งให้สัมปทานออกไป นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ทอท.ต้องดำเนินการในทุกวิถีทางในอันที่จะปกป้องขุมทรัพย์แสนล้านของตนเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ห้างลักชัวร์รี เอาท์เล็ตแห่งนี้เปิดให้บริการ
แต่เมื่อศาลปกครองขั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้าม ทอท.กระทำการใดๆ อันเป็นการกีดขวางทางเข้า-ออก Luxury Outlet ดังกล่าวและเปิดทางให้ “เซ็นทรัล วิลเลจ” เดินไปตามครรลองโดยไม่อาจจะหยุดยั้งใดๆ ได้อีก แถมในวันเปิดห้างเป็นประเดิมนั้นผู้คนยังหลั่งไหลไปเช็คอินกันอย่างคับคั่ง
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า สัมปทานแสนล้านของ AOT ที่ได้อานิสงส์จากธุรกิจผูกขาดดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์และจากบรรดาสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลายภายในพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมินั้น กำลังสั่นคลอนและถูกท้าทายจาก “เซ็นทรัล วิลเลจ”
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 ธ.ค.62 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ที่กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยมีคำสั่งให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ดำเนินการรื้อถอนสิ่งกีดขวางใดๆ ออกไปจากเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 บริเวณทางเข้า – ออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต
รวมทั้งยุติการดำเนินการใดๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ใดๆ ของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด และการดำเนินการของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว
โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด เพียงขอเปิดใช้ทางเชื่อมระหว่างโครงการกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เพื่อให้ยานพาหนะเข้า-ออกและขอใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อประกอบกิจการโครงการเท่านั้น ยังไม่ได้มีลักษณะถึงขั้นเป็นการขัดขวางหรือรบกวนการปฏิบัติงานของ ทอท.
ทั้งนี้ ข้ออ้างของ ทอท.ที่ว่า การเปิดทางเชื่อมจะทำให้การจราจรหน้าโครงการหนาแน่นขึ้น กระทบการเดินทางของผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการให้บริการ หรือกระทบแผนพัฒนาท่าอากาศยาน เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้น
อีกทั้งเป็นเรื่องที่ป้องกันและแก้ไขได้ และที่อ้างว่าการก่อสร้างใกล้เคียงกับทางขึ้นลงท่าอากาศยานอาจกระทบความปลอดภัยการเดินอากาศนั้น ศาลเห็นว่าการก่อสร้างอาคารเป็นคนละส่วนกับการทำทางเชื่อมเข้า-ออกที่พิพาทในคดีนี้
ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามคำขอของ บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของ ทอท.
ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เป็นที่ราชพัสดุซึ่งอยู่ในความดูแลของ ทอท.นั้น เป็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของคู่กรณีต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทาง “เซ็นทรัล วิลเลจ” จะสามารถเปิดให้บริการไปแล้วนั้น แต่เรื่องราวด้านคดีความดังกล่าวยังไม่ถึงตอนจบ เพราะต่อจากนี้ยังเป็นที่น่าจับตาว่าทาง AOT จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และอนาคตของห้าง “เซ็นทรัล วิลเลจ” จะสามารถเปิดให้บริการต่อไปอย่างราบรื่นหรือไม่ หรือจะถูกสกัดจาก AOT อีกครั้งหรือไม่ ซึ่งยังต้องเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อ