ราคาเนื้อสัตว์หนุน CPF โตเด่น!

CPF ถือเป็นอีกบริษัทน่าสนใจ ผู้บริหารเปิดเผยว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 63 จะเติบโตราว 8 - 10%  นับว่าแข็งแกร่ง โดยเฉพาะจากการขยายการลงทุนในต่างประเทศ


คุณค่าบริษัท

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ถือเป็นอีกบริษัทน่าสนใจ สามารถห่อเก็บข้ามปีกันไปได้ ด้วยมีคำพูดผู้บริหารที่เปิดเผยว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2563 จะเติบโตราว 8 – 10%  นับว่าเติบโตแข็งแกร่งอยู่ โดยเฉพาะจะมาจากการขยายการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากโรค ASF ในสุกรที่ส่งผลให้ราคาสุกรในตลาดของบางประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสุกรในประเทศยังคงมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม

พร้อมทั้งทางบริษัทมีแผนธุรกิจ 5 ปี (2562-2566) คงเป้าหมายยอดขายจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% และในปี 2566 จะมีรายได้รวมอยู่ที่ 800,000 ล้านบาท โดยการเติบโตจะมาการซื้อกิจการธุรกิจอาหารในต่างประเทศต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจอาหารขึ้นมาเป็น 2 ใน 3 ของรายได้รวม นอกจากจุดแข็งของทางผู้บริหารที่เปิดเผยออกมาแล้ว ก็ยังมีมุมมองจากทางนักวิเคราะห์ที่เป็นบวกมากขึ้นต่อภาพของตัวหุ้น CPF จากปัจจัยหลัก ได้แก่

1.CPF จะได้ประโยชน์จากราคาหมูที่ปรับตัวขึ้นทั้งในเวียดนามและไทย เนื่องจากเข้ารอบการฟื้นตัวของธุรกิจหมูซึ่งเป็นวัฏจักรที่ยาวนาน สำหรับราคาหมูเวียดนามปัจจุบันอยู่ที่ 74,000-82,000 ดอง/กก. ในภาคเหนือซึ่งสูงกว่าภูมิภาคอื่นเป็นผลจากการขาดแคลนหมูในประเทศจีนที่อยู่ติดกันด้วย โดยราคาอยู่ที่  70,000-75,000 ดอง/กก. ในภาคกลางและภาคใต้ 69,000-76,000 ดอง/กก. ผลดังกล่าวทำให้ราคาเฉลี่ยปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 73,000 ดอง/กก. เพิ่มขึ้นจาก 55,000 ดอง/กก. ในเดือนต.ค. จากความต้องการที่มากขึ้นและอุปทานที่ลดลงมากจาก ASF

ขณะที่ราคาหมูและไก่ในประเทศไทยก็ฟื้นตัวขึ้น โดยความกังวลการแพร่ระบาดของโรค ASF ที่อาจจะเข้ามาในประเทศไทยจากชายแดนพม่าด้านเชียงราย ทำให้ผู้ประกอบการระบายหมูออกมาจำหน่ายเพื่อรวบรวมสภาพคล่องและป้องกันการขาดทุน ทำให้อุปทานหมูในประเทศลดน้อยลง อีกทั้งหมูไทยจะได้รับประโยชน์เพราะเป็นประเทศเดียวที่ยังคงป้องกัน ASF ได้และมีอาณาเขตใกล้กับจีน โดยมีการนำเข้าหมูไทยไปจีน ขณะที่จีนยังคงต้องใช้เวลาเพื่อที่จะฟื้นระบบวงจรการเลี้ยงหมูให้เข้าสู่ภาวะปกติ ปัจจุบันราคาหมูไทยในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 60 บาท/กก. ซึ่งสูงกว่าเดือน ต.ค. ที่  54 บาท/กก. และราคาไก่ไทยในเดือน พ.ย. อยู่ที่  37 บาท/กก. เพิ่มจากเดือน ต.ค. ที่ 34 บาท/กก.

2.CPF จะได้ประโยชน์จากการที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเลื่อนและยกเลิกการแบนสารเคมีทางการเกษตรทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่แบนสารไกลโฟเซต และมีมติเลื่อนการแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมจะทำการยกเลิกการใช้ในเดือน ธ.ค. 2562 เป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2563 เป็นการลดความกังวลในภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เนื่องจากหากมีการระงับการใช้สารไกลโฟเซตจะมีผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบข้าวโพดและกากถั่วเหลืองจากต่างประเทศ ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น

ดังนั้นทางนักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย)  คงประเมินกำไรสุทธิปี 2562 ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) เนื่องจากมองแนวโน้มราคาหมูในภูมิภาคที่อ่อนตัวในช่วงต้นไตรมาส 3/2562 จาก ASF จะดีขึ้นในไตรมาส 4/2562 จากความต้องการที่มากขึ้นและอุปทานที่ลดลงมากจาก ASF

รวมถึงคาดว่าราคาหมูเวียดนามจะกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 4/2562 และในปีหน้าจากความต้องการที่มากขึ้นและอุปทานที่ลดลงมากหลังผ่านพ้นความกังวลเรื่อง ASF ขณะที่มีปัจจัยหนุนจากราคาวัตถุดิบข้าวโพดและถั่วเหลืองที่ต่ำ และการส่งออกไก่ไปจีนจะมีแนวโน้มดีขึ้นเพื่อทดแทนอุปทานหมูที่ลดลงจาก ASF

ทั้งนี้ แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 33 บาท/หุ้น

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด 2,113,315,835 หุ้น 24.54%
  2. UBS AG LONDON BRANCH 882,749,107 หุ้น 10.25%
  3. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด 787,319,960 หุ้น 9.14%
  4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 774,520,758 หุ้น 8.99%
  5. GIC PRIVATE LIMITED 335,231,332 หุ้น 3.89%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริษัท
  2. นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร, รองประธานกรรมการบริษัท2019
  3. นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร, กรรมการ
  4. นายพงษ์เทพ เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการบริษัท
  5. นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการบริษัท

Back to top button