“ธปท.” ชี้สถานการณ์สหรัฐฯ-อิหร่าน ทำไทยเงินเฟ้อ-ฉุดเงินบาทผันผวน

“ธปท.” จับตาสถานการณ์สหรัฐฯ-อิหร่าน หลังส่งผลกระทบค่าเงินบาทผันผวน-อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น


นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงหลังเปิดปีใหม่มาว่า ตลาดมีความสมดุลมากขึ้นทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ยังมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ ซึ่งไม่เฉพาะแต่ค่าเงินบาทเท่านั้น ยังกระทบค่าเงินในภูมิภาคด้วย นั่นคือสถานการณ์ความขัดแย้งของสหรัฐฯและอิหร่าน ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และมีผลมาถึงอัตราเงินเฟ้อของไทยให้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้นกว่ากลางปี 64

“ก็มีความเป็นไปได้ ถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้น เงินเฟ้อก็มีแนวโน้มขยับขึ้น แต่เรายังไม่เปลี่ยนแนวการทำนโยบายการเงิน เพราะถ้าเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลง เราต้องดูปัจจัยอื่นเพิ่มเติมว่ามาจากอะไร เช่น จาก supply side shock ของราคาน้ำมันจากวิกฤติการณ์ในต่างประเทศแล้วทำให้เศรษฐกิจเราเปราะบางมากขึ้น หรือชะลอตัวมากขึ้น เราก็ต้องให้น้ำหนักของศักยภาพเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน คงไม่ได้ให้น้ำหนักเงินเฟ้ออย่างเดียว” ผู้ว่า ธปท.กล่าว

พร้อมกันนี้ การที่ในปี 2563 ธปท.จัดทำเป้าหมายนโยบายการเงินเป็นแบบช่วง (1-3%) โดยไม่ได้มีค่ากลางแบบปีที่ผ่านมา (2.5% บวก/ลบ 1.5%) จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นในการทำนโยบายการเงิน

นายวิรไท ยังกล่าวด้วยว่า ในระยะหลังมานี้เงินบาทเริ่มไม่ได้เป็น Safe Haven ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติแล้ว เนื่องจากถ้าพิจารณาค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย จะเห็นว่ามีความต่างกันมาก เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ซึ่งเมื่อเงินบาทแข็งค่ามาก นักวิเคราะห์ต่างชาติหลายรายจึงมองในทิศทางกลับด้านว่าเงินบาทควรจะปรับอ่อนค่าลง

นอกจากนี้ ไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน ซึ่งระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงพลังงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ ดังนั้นจึงไม่คิดว่าเงินบาทจะเป็น safe haven ในสถานการณ์แบบนี้ รวมทั้งการที่ไทยยังพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ซึ่งหากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านมีมากขึ้น ก็จะยิ่งกระทบกับแหล่งรายได้ต่างประเทศที่สำคัญของไทย

“ไม่คิดว่านักลงทุนจะมองว่าประเทศไทยเป็น safe haven ซึ่งเราเริ่มเห็นมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว รวมทั้งมาตรการหลายอย่างที่เราได้ทำ ที่จับตามองนักลงทุนต่างประเทศใกล้ชิดมากขึ้น เขาก็รู้ว่าการจะเอาเงินเข้ามาพักในไทยทำได้ยากขึ้น และถ้าดูอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของเราก็ต่ำมาก จากที่เราลดดอกเบี้ยนโยบายไป 2 ครั้ง เราไม่เห็น Bond flow เข้ามาในช่วง Q4 ที่ผ่านมา เห็นแต่ออกไปด้วยซ้ำ” ผู้ว่าธปท.กล่าว

ทั้งนี้ยืนยันว่าการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะยึดหลัก Data Dependent โดยจะประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา และดูความเสี่ยงในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจต่างไปจากที่ ธปท.ได้ประเมินไว้ ก็พร้อมจะใช้เครื่องมือด้านนโยบายเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงในแต่ละปี แม้ว่าภาพรวมเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยไม่ได้เปราะบาง แต่มูลค่านำเข้าที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง อย่างไรก็ดี การที่ไทยยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ มีข้อดีคือทำให้สามารถนำเข้าพลังงานได้เพิ่มมากขึ้นหากเกิดความไม่แน่นอนของตลาดพลังงานในอนาคต

นอกจากนั้น นายวิรไท ยังกล่าวถึงมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย LTV) ว่า ภายหลังออกมาตรการไปแล้ว ธปท.ได้มีการประเมินผลและหารือกับผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ พร้อมจะทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าวหากเห็นว่ามีความเข้มงวดมากเกินไปหรือทำให้เกิดผลข้างเคียงที่มากเกินควร ซึ่งหากจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ทาง ธปท.จะชี้แจงให้ทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม มาตรการ LTV ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน เม.ย.62 เป็นมาตรการเพื่อส่งเสริมให้คนมีบ้านเป็นของตัวเอง รวมทั้งลดความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดจากดีมานด์เทียม

 

Back to top button