“สมคิด” แนะ กฟผ.หาแนวทางลดค่าไฟช่วยผู้มีรายได้น้อย-เร่งลงทุนพลังงานช่วงบาทแข็งกระตุ้น ศก.

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบาน กฟผ.หาแนวทางลดค่าไฟฟ้าช่วยผู้มีรายได้น้อย-เร่งลงทุนพลังงานช่วงค่าเงินบาทแข็งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ม.ค.63) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมมอบนโยบายให้ กฟผ. ช่วยดูแลค่าไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ตลอดจนช่วยดูแลชุมชนควบคู่กันไปด้วย พร้อมกับให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งรวมถึง กฟผ. เร่งการลงทุนในช่วงเวลาที่เงินบาทแข็งค่าเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากภาพรวม กฟผ. มีผลประกอบการที่แข็งแรงอยู่แล้ว ก็จะสามารถเข้ามาดูแลในเรื่องเหล่านี้ได้

โดย กฟผ. ได้ก้าวข้ามจากการผลิตไฟฟ้าธรรมดา ไปสู่พลังงานแห่งอนาคตและนวัตกรรมต่างๆ แต่เรื่องการผลิตไฟฟ้า กฟผ.ก็ยังต้องเป็นหลักที่มั่นคง ส่วนสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางขณะนี้ก็ยังมั่นใจว่ากระทรวงพลังงานดูแลอย่างเพียงพอ ทำให้น่าจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าน้อยมาก ซึ่งก็ขอให้ กฟผ.ช่วยดูแลค่าไฟฟ้าให้ทรงตัวในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะประชาชนผู้ยากไร้ ขอให้ กฟผ.ดูแลเพิ่มเติม ซึ่งคงต้องมีการหารือในรายละเอียดต่อไป

นอกจากนี้ ในอนาคต กฟผ.มีแผนที่จะรุกตลาด CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม และอีก 1 ประเทศ คือมาเลเซีย ซึ่งในอนาคต 4-5 ประเทศนี้นับว่าเป็นตลาดของ กฟผ. และ กฟผ. สามารถแข่งขันทุกประเทศ เช่น แข่งขันกับผู้ประกอบการจีนในลาว ในกัมพูชา ในเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูง ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ก็เป็นโอกาสของ กฟผ. เพียงแต่ต้องปรับโครงสร้างของ กฟผ. เพื่อให้รุกสู่ตลาดเหล่านี้ได้อย่างมีความแข็งแกร่ง

ขณะเดียวกัน กฟผ. เองก็มองถึงกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคตที่มีความสนใจ ได้แก่ พลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งได้แนะนำให้ กฟผ.หาพันธมิตรที่เหมาะสมเพื่อร่วมกันเข้าสู่ธุรกิจนี้

ด้านพลังงานชุมชน กฟผ. ก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุน เพราะหนึ่งภารกิจของ กฟผ. เพื่อให้ความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น ดังนั้น กฟผ. ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และประชาชนในพื้นที่ ในการทำโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดรายได้มหาศาล

ขณะที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้ใช้ค่าไฟฟ้าถูกลง ซึ่งจะต้องมีการหารือในรายละเอียดต่อไป โดยในส่วนของผู้มีรายได้น้อยที่ปัจจุบันรัฐบาลให้การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้ว ก็จะหาแนวทางที่จะช่วยเหลือเพิ่มอีกได้หรือไม่ต่อไป ส่วนการช่วยเหลือ SMEs เพราะตระหนักถึงความสำคัญของต้นทุนพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่คือค่าไฟฟ้า ก็ต้องพิจารณาว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือได้อย่างไรบ้างต่อไป

สำหรับการเร่งรัดการลงทุนของ กฟผ. นั้น ปัจจุบันมีแผนลงทุนมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี โดยหลังจากนี้ก็จะหารือเชิงลึกว่าจะใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างไรบ้าง ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.) ก็จะได้หารือถึงทิศทางการลงทุนกับผู้บริหารของ กฟผ. รวมถึงจะเชิญ บมจ.ปตท. (PTT) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของกระทรวงพลังงานเข้ามาหารือ เพื่อเร่งรัดแผนลงทุนต่าง ๆ ด้วย

ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า สำหรับแผนการลงทุนของ กฟผ.ในปี 63 อยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ กฟผ. ได้ประมูลงานต่างๆตามแผนการลงทุนในปีนี้ไปแล้ว ดังนั้นจะนำงบประมาณในปี 64 ที่มีแผนลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาทขึ้นมาพิจารณาว่าจะสามารถเร่งรัดการลงทุนในส่วนใดได้บ้าง ซึ่งในปี 64 จะมีการลงทุนทั้งในส่วนของสายส่ง , โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าบางปะกง

ส่วนแผนลงทุนระยะยาวของ กฟผ.จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 8 โรง รวมกำลังการผลิต 5,400 เมกะวัตต์ (MW) ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยจะทยอยนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติก่อสร้างและทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 68-72 โดยโรงไฟฟ้าใหม่แห่งแรกจะเข้าระบบในปี 68 ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 2 หน่วย

Back to top button