สหรัฐ vs อิหร่าน กับทฤษฎีสมคบคิด

หากใช้จินตนาการช่วย การใช้โดรนสังหารของสหรัฐฯ ต่ออดีตนายทหารคนสำคัญของอิหร่านที่มีอิทธิพลเหนือปฏิบัติการในตะวันออกกลางหลายปีนี้ ไม่ต่างอะไรจากฉากในซีรีส์ขนาดยาวของฮอลลีวูด (ที่ห้ามฉายในไทย) เรื่องMadam Secretary ที่เพิ่งจบลงปลายปีก่อน


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

หากใช้จินตนาการช่วย การใช้โดรนสังหารของสหรัฐฯ ต่ออดีตนายทหารคนสำคัญของอิหร่านที่มีอิทธิพลเหนือปฏิบัติการในตะวันออกกลางหลายปีนี้ ไม่ต่างอะไรจากฉากในซีรีส์ขนาดยาวของฮอลลีวูด (ที่ห้ามฉายในไทย) เรื่องMadam Secretary ที่เพิ่งจบลงปลายปีก่อน

เพียงแต่ไม่มีเอลิซาเบธ แม็คคอร์ดมาเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น

รายงานข่าวว่า วันที่ 3 มกราคม พลเอก คาเซ็ม สุเลมานี บินมาจากเลบานอนหรือซีเรียมาลงที่สนามบินในกรุงแบกแดด ของอิรัก หลังจากนั้น ระหว่างทำการเปลี่ยนรถที่นั่งในสนามบิน ขบวนรถของเขาและเจ้าหน้าที่จากกองกำลังติดอาวุธที่อิหร่าน ให้การสนับสนุนก็ถูกโดรนของสหรัฐฯ ถล่มด้วยจรวดหลายลูก อย่างแม่นยำ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีอย่างน้อย 7 ราย

ปฏิบัติการโดรนสังหาร อดีตผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ผู้ทรงอิทธิพลของอิหร่านนี้กำกับดูแลโดยสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) และควบคุมจากระยะไกลโดยเหล่านักบินกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ฐานทัพอากาศครีชในรัฐเนวาดา

ข้อมูลจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุว่า โดรนเอ็มคิว-9 รีปเปอร์เป็นอากาศยานควบคุมระยะไกลแบบติดอาวุธครบเหมาะกับภารกิจหลากหลาย บินในความสูงระดับปานกลาง และมีอายุการใช้งานยาวนาน โดยหน้าที่หลักของรีปเปอร์คือ สังหารเป้าหมายแบบสายฟ้าแลบ ส่วนหน้าที่รองคือ เก็บข้อมูลข่าวกรอง

หากมองข้ามคำขู่ (ที่เกิดขึ้นจริงตามมา) ของผู้นำอิหร่านแล้ว ปฏิบัติการครั้งนี้ถือว่าสุดยอดทั้งด้านงานข่าวกรองและการใช้เครื่องมือที่ประสิทธิผลสูงยิ่ง สมดังคำแถลงการณ์กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่บอกว่า “ปฏิบัติการตามคำสั่งของประธานาธิบดี กองทัพสหรัฐฯ ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะดำเนินการเพื่อเป็นการปกป้องเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในต่างประเทศ”

เหตุผลเพราะ คาเซ็ม สุเลมานี คือผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในอิหร่าน รองจาก อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี เขาเป็นผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Revolutionary Guard Corps) ที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีหนังสุนัขว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย

ปฏิบัติการครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ทำไมสหรัฐฯ จึงตัดสินใจสังหารนายพลผู้นี้ แต่นี้คือการมองการเมืองระหว่างประเทศแบบชั้นเดียว เพราะในทางปฏิบัติอาจจะผลตรงกันข้าม เปิดช่องให้นักคิดสำนักทฤษฎีสมคบคิด” หาคำอธิบายที่แปลกออกไป

การสังหารผู้ที่หลายปีนี้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการทางทหารของอิหร่านในตะวันออกกลาง และอยู่เบื้องหลังสังหารทหารสหรัฐฯ หลายร้อยคน ในดินแดนอิรัก ถือได้ว่าสหรัฐฯ มีความชอบธรรม จากการ เสียลับ” (ไม่รู้ด้วยเหตุใด) ของฝ่ายอิหร่านเอง

บทบาทที่ผ่านมาของนายทหารอิหร่านคนนี้ค่อนข้างโฉ่งฉ่าง ทำให้ภาพลักษณ์การแทรกแซงทางทหารของอิหร่านในตะวันออกกลางนับแต่ซีเรีย เยเมน อิรัก และปาเลสไตน์ โจ่งแจ้ง ปฏิเสธได้ยาก

ภายใต้ข้ออ้างต่อต้านกลุ่มไอซิสที่ (อ้างว่า) ได้รับการหนุนหลังโดยอิสราเอลและสหรัฐฯ พลเอกสุเลมานี สบโอกาสส่งกองกำลังอิหร่านเข้าไปในซีเรีย จนรัฐบาลซีเรียสามารถกวาดล้างกลุ่มไอซิสและอัลกออิดะห์ ก่อนจะแผ่อิทธิพลเข้าไปแทนที่ในเยเมน อิรัก และปาเลสไตน์

วันที่ 3 มกราคม พลเอกสุเลมานี ได้รับเชิญจากรัฐบาลอิรักให้เดินทางมาอิรักในฐานะทูตจากรัฐบาลอิหร่าน เขาเดินทางมาไม่กี่คน แต่การมาของเขา เป็นที่รู้จักทางสื่ออย่างแพร่หลาย เพราะเขาเดินทางเข้าอิรักโดยเปิดเผย ในฐานะทูตจากรัฐบาลอิหร่าน

การปรากฏตัวเปิดเผย เปิดช่องให้กับโดรนสังหารที่กำหนดแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า Targeted Killings อย่างแม่นยำ

จินตนาการอันบรรเจิดของนักคิดสำนัก ทฤษฎีสมคบคิด” จึงมีข้อสรุปว่างานนี้อิหร่านแอบ ขาย” นายพลที่เริ่มหมดประโยชน์ของตนเองให้สหรัฐฯ อย่างลับ ๆ เพื่อหาทางลงจากความขัดแย้งอย่างแนบเนียนกับสหรัฐฯ

ข้อสรุปดังกล่าวจะเป็นไปได้หรือถูกต้องแค่ไหน ยังต้องการเวลาพิสูจน์อีกนานพอสมควร

ในระยะสั้น แม้จะคาดเดายากว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านจะบานปลายใหญ่โตแค่ไหน แต่มองจากมุมของการลงทุนเก็งกำไรแล้วจะเห็นชัดว่าน่าจะเป็น “สายลมที่ผ่านเลย” มากกว่า เพราะเหตุผลคือ

– ความขัดแย้งทำให้ยักษ์ส่งออกน้ำมันรวมทั้งอิหร่านได้รับประโยชน์จากการพุ่งของราคาน้ำมันดิบชั่วคราว

– อิหร่านจะลดความสามารถในปฏิบัติการที่ตะวันออกกลางลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้สถานการณ์รุนแรงไม่เพิ่มขึ้นมากดังที่ขู่เอาไว้

ปรากฏการณ์เชิงลบระยะสั้นจากผลของโดรนสังหารครั้งล่านี้ น่าจะถูกตลาดเก็งกำไร “ซึมซับ” อย่างรวดเร็ว สวนทางกับราคา “สินทรัพย์ปลอดภัย” หากทฤษฎีสมคบคิดถูกต้อง

Back to top button