Triple Bottom Line ความสมดุลธุรกิจยุคใหม่

อดีตที่ผ่านมา ผลลัพธ์ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจต่าง ๆ มีการวัดผลตอบแทนบรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) กันตรงที่ตัวเลขกำไรหรือผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Performance) นั่นจึงทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ จึงสนใจและให้ความสนใจกับตัวเลขทางบัญชีเป็นหลัก..!


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

อดีตที่ผ่านมา ผลลัพธ์ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจต่าง ๆ มีการวัดผลตอบแทนบรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) กันตรงที่ตัวเลขกำไรหรือผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Performance) นั่นจึงทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ จึงสนใจและให้ความสนใจกับตัวเลขทางบัญชีเป็นหลัก..!

ทว่าโมเดลการทำธุรกิจสมัยใหม่ ผลตอบแทนบรรทัดสุดท้ายไม่ใช่เพียง “กำไรสุทธิ” อีกแล้ว องค์กรธุรกิจต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบของผลตอบแทนบรรทัดสุดท้าย นั่นคือ “เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม” หรือที่เรียกกันว่า Triple Bottom Line เพื่อสร้างผลตอบแทนสู่ความยั่งยืนนั่นเอง

สำหรับ Triple Bottom Line เป็นแนวคิดของ John Elkington ที่พัฒนาจากแนวคิดเดิมที่ Brundtland Commission ขององค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้เมื่อปี 1987

โดยเน้นเรื่อง People-Planet-Profit หรือการให้ความสำคัญกับการมองคุณค่าและประเมินความสำเร็จองค์กรอย่างสมดุลทั้ง 3 ด้าน กล่าวคือ ด้านเศรษฐกิจ (การทำให้ธุรกิจเติบโต) ด้านสังคม (การเกื้อกูลต่อสังคมรอบข้าง) และด้านสิ่งแวดล้อม (การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม) รวมถึงดำเนินกิจการด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลควบคู่ไปด้วย

เริ่มจากผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ คือ การวัดและแสดงผลประกอบการของกิจการ ที่เป็นผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ตามองค์ประกอบที่สามารถดำเนินการและผลการวัดค่าค่อนข้างถูกต้อง แม่นยำมากที่สุด ด้วยมาตรฐานการบัญชีได้พัฒนามารองรับแล้ว (เป็นส่วนใหญ่) ผลประกอบการทางเศรษฐศาสตร์ จึงเน้นคุณค่าที่วัดเป็นตัวเงินได้ หรือที่เรียกว่า Net Worth ของกิจการเป็นสำคัญ

ส่วนผลตอบแทนทางสังคม คือ การวัดและแสดงผลประกอบการ ที่เป็นผลตอบแทนทางสังคม แต่มีความยุ่งยากและซับซ้อนมากกว่าการวัดผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากต้องนิยามคำว่าผลตอบแทนทางสังคมให้ชัดเจน หรือต้องระบุเกณฑ์และวิธีการวัดผลตอบแทนทางสังคมที่เหมาะสมและยอมรับได้

ขณะที่ผลตอบแทนด้านสิ่งแวดล้อม คือ การวัดผลประกอบการที่พยายามมีส่วนร่วมต่าง ๆ อาทิ  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเยียวยาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นั่นรวมถึงการลดผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม การดำเนินการส่วนนี้เน้นการวัดว่ากิจการได้พิจารณาวงจรการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างครบถ้วนและครอบคลุม เพื่อดูว่าสินค้าและบริการมีผลต่อสิ่งแวดล้อมทางลบอย่างไรบ้างและมีกิจกรรม CSR ที่เกี่ยวข้องใดบ้าง

หลักการ Triple Bottom Line กลายเป็นทฤษฎีที่ยอมรับถึงผลประกอบการของกิจการและยืนยันว่า วิสัยทัศน์นโยบายและแนวทางการดำเนินกิจการเป็นแบบกว้างขวาง มีความโปร่งใส ที่สำคัญสามารถตรวจสอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้ทั้งผลตอบแทนทางสังคม ผลตอบแทนด้านสิ่งแวดล้อมและไม่ขัดหรือแย้งกับผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ด้วย

นี่คือ..โจทย์ใหม่ที่ “องค์กรธุรกิจยุคใหม่” ที่ต้องให้ความสำคัญกับการมองคุณค่าและประเมินความสำเร็จองค์กรอย่างสมดุล เพื่อสร้างความสมบูรณ์ของ Bottom Lines และนำไปสู่ความยั่งยืนขององค์กรอย่างแท้จริง..!!

Back to top button