BGRIM วิ่งฉิว 3% ทำ “ออลไทม์ไฮ” รับข่าวเซ็นติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำสิรินธร 45MW 20 ม.ค.นี้
BGRIM วิ่งฉิว 3% ทำ "ออลไทม์ไฮ" รับข่าวเซ็นติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำสิรินธร 45MW 20 ม.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ณ เวลา 10.13 น. อยู่ที่ระดับ 59.50 บาท บวก 1.75 บาท หรือ 3.03% สูงสุดที่ระดับ 59.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 58.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 165.17 ล้านบาท
โดยราคาหุ้น BGRIM ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่ (ออลไทม์ไฮ) อีกครั้งตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ ข่าวหุ้นธุรกิจ รายงานข่าวเช้านี้ ว่า นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ม.ค. 2563 กฟผ.เตรียมลงนามสัญญาว่าจ้างกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลรับเหมาติดตั้ง (EPC) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (โซลาร์ลอยน้ำ) ของ กฟผ. ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์
โดยก่อนหน้านี้กลุ่มบริษัท BGRIM ร่วมกับพันธมิตรจีนในนามของ B.GRIMM POWER-ENERGY CHINA CONSORTIUM เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากเสนอราคาประมูลต่ำสุด จากผู้ที่ผ่านทางเทคนิคทั้งหมด 21 ราย
สำหรับโครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนสิรินธร กฟผ.ตั้งงบกลางที่ประมาณ 2,265.99 ล้านบาท นับเป็นโครงการนำร่องของ กฟผ. และเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดระหว่างโซลาร์เซลล์กับพลังน้ำแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะติดตั้งทดสอบระบบประมาณ 1 ปี โดยตามแผนงานผู้ประกอบการมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 12 เดือน ให้ทันการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไม่เกินเดือน ธ.ค.นี้ หรือต้นปี 2564
นอกจากนี้ ภายหลังจากนำร่องเปิดประมูลเขื่อนสิรินธรแล้ว โครงการต่อไปที่จะเปิดประมูล คือ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีกำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์ ผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อน กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2566 และคาดว่าจะมีการเปิดประมูลให้เอกชนมาดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2563 เนื่องจากตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (พีดีพี 2018) กำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำของ กฟผ. อยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์
“การวางแผนดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำใน 2 เขื่อนใหญ่ของ กฟผ. ทั้งที่เขื่อนสิรินธร และเขื่อนอุบลรัตน์ ยังจะช่วยเพิ่มความมั่นคงไฟฟ้าในส่วนของภาคอีสานให้มีมากขึ้น จากที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยพื้นที่ภาคอีสานยังต้องพึ่งพาไฟฟ้านำเข้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ที่ กฟผ. มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับเอกชนผู้พัฒนาโครงการ เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าในพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการ” นายเทพรัตน์ กล่าว
ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท กฟผ. และบริษัทลูก ได้แก่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนด้านนวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการฯ (บอร์ด กฟผ.) เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2562 ได้เห็นชอบแนวทางจัดตั้งบริษัทดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะสามารถนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติจัดตั้งภายในเดือน มิ.ย. 2563
ทั้งนี้บริษัทร่วมทุนฯ จะมี กฟผ. ถือหุ้นสัดส่วน 40%, RATCH ถือหุ้น 30% และ EGCO ถือหุ้น 30% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกันเพื่อกำหนดรูปแบบและรายละเอียดโครงสร้างธุรกิจที่ชัดเจน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท โดยวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนฯ ดังกล่าว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (disruptive technology) จะมุ่งเน้นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เรื่องของเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ตซิตี้) และโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ตกริด) เป็นต้น
ส่วนงบลงทุนส่วนหนึ่งในบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะเข้าไปร่วมสนับสนุนกลุ่มสตาร์ตอัพ (Startup) ผ่านบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วย โดยในอินโนสเปซ มีสตาร์ตอัพที่ค้นคว้าวิจัยและพัฒนา (R&D) เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมพลังงานจำนวนมาก ซึ่งจะนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ อีกทั้งจะเป็นช่องทางสร้างตลาดร่วมกันในอนาคตต่อไป