AAV ตัดขารักษาชีวิต.!?

เห็นราคาหุ้นบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ทรุดโทรมหนัก โดยในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาปรับลดลงแล้ว 27.70% บอกเลยว่า น่าหนักใจแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้ง 22,686 รายจริง ๆ


สำนักข่าวรัชดา

เห็นราคาหุ้นบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ทรุดโทรมหนัก โดยในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาปรับลดลงแล้ว 27.70% บอกเลยว่า น่าหนักใจแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้ง 22,686 รายจริง ๆ

ตัวการหลักที่ทำให้หุ้น AAV ไปนอนแอ้งแม้งอยู่ก้นเหว…มาจากผลงานที่ย่ำแย่ โดย 9 เดือนปี 2562 พลิกมาขาดทุนสุทธิ 401 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 339 ล้านบาท

จึงพออนุมานได้ว่า ปี 2562 AAV อาจปิดสถานะด้วยคำว่า “ขาดทุน”…ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นจึงพากันขายหุ้นทิ้งแบบไม่ยั้งมืออย่างที่เห็น

จะว่าไปสถานการณ์หุ้นกลุ่มสายการบินมีชะตากรรมไม่แตกต่างกัน…

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA งวด 9 เดือนแรกปี 2562 พลิกมาขาดทุนสุทธิ 131 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 663 ล้านบาท ราคาหุ้นในรอบ 3 เดือน ปรับลดลงไป 20.73%

ฟากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI งวด 9 เดือนปี 2562 ขาดทุนสุทธิสูงถึง 11,119 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 4,082 ล้านบาท ส่วนราคาหุ้นในรอบ 3 เดือน ปรับลดลงไป 26.14%

ส่วนบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK งวด 9 เดือนปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 1,616 ล้านบาท ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1,962 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นในรอบ 3 เดือน ปรับลดลงไป 8.26%

เรียกว่าหุ้นกลุ่มสายการบินทรุดโทรมหนักทั้งผลประกอบการและราคาหุ้นจริง ๆ

กลับมาที่ AAV ซึ่งเริ่มเห็นการวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับภาพรวมธุรกิจสายการบินที่ไม่สดใสซาบซ่าเหมือนก่อน ด้วยการประกาศขายเครื่องบินเก่า 10 ลำ ให้กับ Avolon Aerospace Leasing Limited มูลค่ารวม 426.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 12,861 ล้านบาท และเช่าเครื่องบินกลับ 9 ลำ มูลค่า 285.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,612.23 ล้านบาท

แน่นอนว่า เบื้องต้น AAV จะได้เงินสดมาไว้ใช้ในมือ ทั้งเพื่อนำไปชำระหนี้ และรองรับการซื้อเครื่องบินลำใหม่ที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยกว่าเดิม เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน

แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้น ในช่วงระยะสั้น ๆ 1) จะมีการบันทึกรายการพิเศษจากธุรกรรมนี้ประมาณ 4,300 ล้านบาท

นั่นจะทำให้งบไตรมาส 1/2563 ดูดีขึ้น..!

และ 2) จะทำให้รายการที่เป็นตัวกดดันต้นทุนจะหายไป 2 ตัว ตัวแรก เป็นค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ถ้าดูจากงบ 9 เดือนปี 2562 โดยรวมอยู่ที่ 1,290 ล้านบาท พอตัดขายเครื่องบิน 10 ลำออกไป ค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ก็จะลดลง

อีกตัวเป็นค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน จากงบ 9 เดือนปี 2562 สูงถึง 1,600 ล้านบาท นั่นเท่ากับว่า การซ่อมบำรุงเครื่องบินจะลดลงตามสัดส่วนเครื่องบินที่หายไป 10 ลำ

พอค่าเสื่อมกับค่าซ่อมบำรุงลดลง ก็จะทำให้งบของ AAV ดูสวยขึ้น ในเชิงบรรทัดสุดท้าย หรือ “กำไรสุทธิ” จะดีขึ้น

อาจจะทำให้ปีนี้มีกำไรดีกว่าเดิม หรือขาดทุนน้อยกว่าเดิม…

โอเค…แม้จะทำให้สินทรัพย์ของ AVV หายไป แต่ก็ถือเป็นทางออกที่ดีกว่า เพราะไม่ต้องแบกรับการด้อยค่าของสินทรัพย์ทุกปีอีกต่อไป

แต่อีกมุมหนึ่ง เมื่อค่าใช้จ่าย 2 ส่วนลดลง อาจทำให้ AAV ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่..?

และการเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของสินทรัพย์มาเป็นคนเช่า ตามมาตรฐานทางบัญชีใหม่ IFRS 16 จะทำให้ AAV มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมั้ย..? อันนี้น่าคิด…

อย่าลืมว่าเหรียญมันมีสองด้านเสมอ อยู่ที่ว่าจะมองมุมไหน..?

…อิ อิ อิ…

Back to top button