“กทม.” ฝุ่นยังคลุ้ง “ถ.วิภาวดี” ค่า PM 2.5 พุ่งสูงสุด 87 ไมโครกรัม!

7 พื้นที่กรุงเทพฯ ฝุ่นยังคลุ้ง “ถ.วิภาวดีรังสิต” ค่า PM 2.5 พุ่งสูงสุด 87 ไมโครกรัม! เตือนประชาชนระวังสุขภาพ


กรมควบคุมมลพิษ รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ประจำวันที่ 16 มกราคม 2563 เวลา 7.00 น. ระบุว่า จากผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร จำนวน 47 สถานี ตรวจวัดค่าได้ 26 – 57 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.)

โดยปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบทุกพื้นที่เมื่อเทียบกับเมื่อวาน โดยพบพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 7 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น คือ ริมถนนพระราม 3-เจริญกรุง เขตบางคอแหลม 51 ไมโครกรัม  แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ 52 ไมโครกรัม  ริมถนนสามเสน เขตพระนคร 52 ไมโครกรัม  แขวงคลองเตย เขตคลองเตย 54 ไมโครกรัม  ริมถนนดินแดง เขตดินแดง 55 ไมโครกรัม  ริมถนนลาดพร้าว ซ.ลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง 56 ไมโครกรัม  และริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน 57 ไมโครกรัม

ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สำหรับผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนหากมีความจำเป็น ถ้าหากมีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ พร้อมกับติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด

ขณะที่รายงานผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 16 ม.ค.63 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ในช่วง 33-87 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 18.92 จากจำนวนเขตที่มีสถานีตรวจวัดทั้งหมด พบว่าคุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง

ส่วนพื้นที่ที่พบฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมีจำนวน 7 พื้นที่ คือ​ ริมถนนพระราม 3-เจริญกรุง เขตบางคอแหลม 51 ไมโครกรัม  แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ 52 ไมโครกรัม  ริมถนนสามเสน เขตพระนคร 52 ไมโครกรัม  แขวงคลองเตย เขตคลองเตย 54 ไมโครกรัม  ริมถนนลาดพร้าว ซ.ลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง 56 ไมโครกรัม ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน 57 ไมโครกรัม  และริมถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง เป็นพื้นที่ที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงสุด 87 ไมโครกรัม

โดยแนะนำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ-มีผลกระทบต่อสุขภาพ เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยทางเดินหายใจ และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากเกิดความจำเป็น

 

Back to top button