ภัยแล้งรุนแรงในรอบ 40 ปี! โบรกฯจัดกลยุทธ์เคาะ 9 หุ้นรับอานิสงส์เต็ม

ภัยแล้งรุนแรงในรอบ 40 ปี! โบรกฯจัดกลยุทธ์เคาะ 9 หุ้นรับอานิสงส์เต็ม


สถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522  โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยต้องเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือน มิ.ย.

โดยคาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน โดยปริมาณฝนน้อยใกล้เคียงกับปี 2522 แต่ปริมาณความต้องการการใช้น้ำปีนี้มากกว่าในอดีตจากข้อมูลขณะนี้สถานการณ์การใช้น้ำและผลกระทบรุนแรงกว่าปี 2558 แล้ว ขณะที่บางพื้นที่แล้งมาตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว หรือช่วงสิ้นฤดูฝน ประเมินว่าน้ำในเขื่อนหลักที่ส่งเข้ามายังเจ้าพระยาต่ำกว่าปกติ

โดยจากการรายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศว่ามีอยู่ร้อยละ 60 รวม 49,591 ล้านลูกบาศก์เมตร แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การร้อยละ 43 โดยเป็นแหล่งน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย 14 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวง ภูมิพล สิริกิติ์ แม่มอก ทับเสลา กระเสียว จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำพระเพลิง ลำแซะ ลำนางรอง ป่าสักฯ คลองสียัด และหนองปลาไหล ส่วนสถานการณ์แม่น้ำสายหลัก ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปกติ

อย่างไรก็ตามแม้จะมีภาคธุรกิจบางส่วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว แต่หากมองอีกด้านจะพบว่มีกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีเช่นกัน ดังนั้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมข้อมูลมานำเสนออีกทาง โดยกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์ภัยแล้งอาทิ EASTW,TTW,KSL,TSR,OSP,CBG,HTC,ICHI,SAPPE ตามบทวิเคราะห์ดังนี้

บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ภัยแล้งเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา ภาวะภัยแล้งเป็นความเสี่ยงที่สุดในช่วงสั้น สถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 ค่อนข้างน่ากังวล โดยคาดร้ายแรงในระดับเดียวกับปี 2558 หรืออาจแย่เทียบเท่า 2548 ผลกระทบสำคัญได้แก่ 1) ผลกระทบต่อ GDP ทางตรงไม่มาก เพราะ GDP ภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6% ของ GDP รวม 2) แต่พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตที่ลดลงกระทบต่อกำลังซื้อ 3) ปริมาณสำรองน้ำภาคตะวันออกในระดับวิกฤติทำให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ขอความร่วมมือลดการใช้น้ำลง10%

 

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลยุทธ์เน้นหมุนไปลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวโดยแบ่งออกเป็น 3 ธีม โดยน่าจะ Outperform ตลาดได้ดี

-หุ้นได้รับกระแสเชิงบวกจากทางภาครัฐมีโอกาสเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 อย่าง หุ้นกลุ่มรับเหมาฯ หลังจากปรับฐานแรงกว่า 51% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แนะนำ CK STEC PYLON รวมถึงหุ้นวัสดุก่อสร้าง แนะนำ TASCO

-หุ้นเสริมพลังจากภัยแล้ง ในปี 2563 ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสเผชิญภัยแล้งที่หนักสุดในรอบ 40 ปี แต่ยังมีหุ้นที่ได้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าว แนะนำ EASTW, TTW และ KSL

-หุ้นปันผลสูง มักเป็นตัวเลือกลำดับต้นในการลงทุน ยามที่มีความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกสูง อีกทั้งมักจะ Outperform ตลาดได้ดีในช่วงต้นปีเสมอ แนะนำ MCS, LH, PSH, PTT รวมถึง CPF ที่ยังได้ประโยชน์หากค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าขึ้น

 

บล.ทิสโก้ กลยุทธ์การลงทุน : ใช้กรอบเทรดดิ้งสั้น 1575-1600 ขึ้นขาย-ลงซื้อ แนะใช้กรอบเทรดดิ้ง SET ที่ 1575-1600 ขึ้นขาย-ลงซื้อ หาจังหวะทำรอบ / สำหรับการลงทุนเป็นรอบในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้านี้ ยังแนะนำหาจังหวะสะสมช่วงอ่อนตัว-ถือทนแกว่ง โดยหุ้นที่คาดว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาเก็งกำไรระยะสั้นภายใต้สถานการณ์ภัยแล้งคือ TSR, TTW, EASTW

 

บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มุมมองเป็นกลางคาด SET Index แกว่งตัว 1,575 – 1,588 จุด โดยแม้ว่าภาวะตลาดจะได้ปัจจัยบวกสหรัฐ-จีนลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรก ซึ่งสหรัฐจะปรับลดภาษีครึ่งหนึ่งจากอัตรา 15% ที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์และชะลอการเก็บภาษีเพิ่มเติม ส่วนจีนจะปฏิรูปโครงสร้างรวมทั้งซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตามสหรัฐยังคงตรึงอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนราว 2 ใน 3 มูลค่าราว 3.6 แสนล้านดอลลาร์ จนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย.และจะพิจารณาปรับลดอัตราภาษีลงเมื่อมีการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสสอง ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจการการเจรจาในอนาคต ประกอบกับกระแส Fund flow ต่างชาติที่ยังคง Net Sell ต่อเนื่อง 5 วันราว 5.3 พันลบ.จะกดดันให้ดัชนีผันผวนต่อไป

กลยุทธ์การลงทุน: Selective Buy เน้นหุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว

-กลุ่ม Defensive และงบไตรมาส 4/62 คาดว่าจะออกมาดีและดีต่อเนื่องในปีนี้: GPSC, GULF, JMT , CPF, SAWAD, MTC, BTS, BEM, INTUCH, ADVANC และ DTAC

-กลุ่มเครื่องดื่ม OSP, CBG, HTC, ICHI, SAPPE อานิสงส์ภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานจนถึงกลางปี 

-กลุ่มอิเล็คฯ HANA, KCE, DELTA รับอานิสงส์ Trade war ผ่อนคลายและเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง

-กลุ่มรับเหมา STEC, CK, SEAFCO ลุ้นผลการเปิดซองราคาประมูลสนามบินอู่ตะเภาในวันพรุ่งนี้(17ม.ค.)

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button