วิกฤตหนัก! “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินภัยแล้งทำเศรษฐกิจเสียหาย 1.9 หมื่นลบ.

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งปี 63 เบื้องต้นคาดทำเศรษฐกิจเสียหายราว 17,000-19,000 ล้านบาท


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นราว 0.10-0.11% ของ GDP ซึ่งต้องติดตามระดับความรุนแรงของภัยแล้งโดยเฉพาะในเดือน มี.ค.-เม.ย. และระยะเวลาการเกิดภัยแล้งที่อาจลากยาวไปในช่วงแล้งนอกฤดูกาลจนไปกระทบต่อภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้ให้อยู่ในภาวะวิกฤตมากขึ้นที่ความต้องการในตลาดโลกชะลอตัวลง

โดยระดับน้ำในเขื่อน ณ 16 ม.ค.2563 ที่มีปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้งประเทศอยู่ที่เพียง 19,693 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือลดลง 33.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) เป็นการลดลงในแทบทุกภาคของประเทศ อีกทั้งยังเป็นระดับน้ำที่ต่ำกว่าปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรงซึ่งมีระดับน้ำอยู่ที่ 20,664 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าในระยะ 3 เดือนนี้ (ม.ค.-มี.ค.63) ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งประเทศอาจต่ำกว่าค่าปกติราว 10% รวมถึงอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติราว 0.5 องศาเซลเซียส ทำให้คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 น่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าปีก่อน จนกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งนี้ให้ลดลง รวมถึงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้เกษตรกรให้ต้องเผชิญความยากลำบาก

ในเบื้องต้นประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งจะสร้างความเสียหายทำให้ผลผลิตลดลงอยู่ในกรอบ 4.0-6.0% (YoY) จนมีผลทำให้ราคาพืชเกษตรในช่วงฤดูแล้งปรับเพิ่มขึ้นในทุกรายการ โดยข้าวเพิ่มขึ้น 8.2-11.4% (YoY) มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 2.3-5.4% (YoY) และอ้อยเพิ่มขึ้น 26.0-29.7% (YoY) ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ให้อาจหดตัวอยู่ในกรอบ 0.5-1.0% (YoY) โดยเป็นผลจากแรงฉุดด้านผลผลิตเป็นหลัก

“แม้ช่วงที่เกิดภัยแล้งในฤดูกาลจะช่วยดันราคาในประเทศให้สูงขึ้นได้ แต่หากพิจารณาในด้านการส่งออกอาจต้องประสบปัญหาการขาดแคลนผลผลิตเพื่อการส่งออก ท่ามกลางภาวะที่ความต้องการในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ก็อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกลุ่มนี้ให้ภาพที่ไม่ดีนัก” เอกสารเผยแพร่ ระบุ

โดยครั้งนี้เป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเศรษฐกิจอื่น และระดับความรุนแรงของภัยแล้งที่มากขึ้น ก็อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งคงต้องฝากความหวังไว้กับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้อาจช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้อยู่ในวงจำกัดได้

“ภัยแล้งในฤดูกาลปี 63 น่าจะวิกฤตมากกว่าปี 62 และน่าจะวิกฤตมากกว่าปี 58 ซึ่งเป็นปีที่มีภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี” เอกสารเผยแพร่ ระบุ

นอกจากนี้ยังต้องติดตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งในฤดูกาลอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.63 ที่น่าจะแล้งจัดและเป็นช่วงที่มีผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดจำนวนมากจนอาจกระทบต่อผลผลิตข้าวที่เสียหาย รวมถึงอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และระยะเวลาภัยแล้งที่อาจลากยาวต่อเนื่องถึงช่วงกลางปีนี้ได้ จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งคงต้องจับตาสถานการณ์ภัยแล้งต่อไป ถ้าหากลากยาวไปจนถึงเดือน พ.ค.63 ซึ่งเป็นช่วงภัยแล้งนอกฤดูกาลก็อาจกระทบต่อฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีและสร้างความความสูญเสียทางเศรษฐกิจของภาพรวมทั้งปีนี้ให้อยู่ในภาวะวิกฤตมากขึ้นไปอีก

“คงต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขความเสียหายตามความเหมาะสมต่อไป รวมถึงต้องติดตามสภาพอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากความรุนแรงของภัยแล้งมีระดับไม่เท่ากันในแต่ละเดือน” เอกสารเผยแพร่ ระบุ

Back to top button