PTTEP คาดยอดขายปีนี้แตะ 3.91 แสนบาร์เรล/วัน รับรู้รายได้ “Murphy-Partex” เต็มปี

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PT …


บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 และปี 63 โดยคาดว่าปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยจะอยู่ที่ 394,000 บาร์เรล/วัน และ 391,000 บาร์เรล/วัน ตามลำดับ โดยปริมาณขายปิโตรเลียมในปี 63 จะเพิ่มจากปีที่แล้ว เป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการของ Murphy ในมาเลเซีย และบริษัท Partex ที่เสร็จสิ้นในเดือน ก.ค.62 และเดือน พ.ย.62

ด้านราคาขายผลิตภัณฑ์ในปี 63 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะผันแปรตามราคาตลาดโลกที่คาดว่าจะยังคงมีความผันผวนและเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักนั้นมีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6-24 เดือน คาดว่าราคาเฉลี่ยของไตรมาส 1/63 และทั้งปี 63 จะอยู่ที่ประมาณ 6.8 และ 6.4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ตามลำดับ เป็นผลจากการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม การประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ณ สิ้นปี 62 มีปริมาณน้ำมันภายใต้สัญญาประกันความเสี่ยงที่ยังไม่ครบกำหนดอยู่ที่ประมาณ 13 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ ปตท.สผ.มีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันตามความเหมาะสม

สำหรับไตรมาส 1/63 และทั้งปี 63 ปตท.สผ.คาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 32 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่คาดว่าทั้งปี 63 จะมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่ 70-75% ของรายได้จากการขาย

ทั้งนี้ ในปี 63 ปตท.สผ.มีแผนในการดำเนินงานเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นกลยุทธ์ด้าน Execution เพื่อรักษาปริมาณการผลิตจากโครงการผลิตหลัก ดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับโครงการที่ได้มา ทั้งโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) โครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) ในอ่าวไทย ,โครงการใหม่ในมาเลเซีย และโครงการภายใต้บริษัท Partex ผลักดันโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน

พร้อมเร่งพัฒนาโครงการ ซาราวัก เอสเค 410 บี เพื่อให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนของการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) รวมทั้งมุ่งเน้นกิจกรรมการเจาะสำรวจ โดยเฉพาะในมาเลเซียและเมียนมา เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองในระยะยาว

โดย ณ สิ้นปี 62 ปตท.สผ. มีโครงการและการดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มากกว่า 40 โครงการใน 15 ประเทศ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) จำนวน 1,140 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้มีอัตราส่วนของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วต่ออัตราการผลิต (Proved Reserves/Production Ratio) ตามเป้าหมายที่ 7.5 ปี ขณะที่ปริมาณสำรองที่น่าจะพบ (Probable Reserves) จำนวน 507 ล้านบาร์เรล

สำหรับ หลุมสำรวจ 1 หลุมในไตรมาส 1/63 ,โครงการเมียนมา เอ็ม 11 จากการวิเคราะห์ผลเจาะหลุมที่เสร็จสิ้นในไตรมาส 2 ไม่พบแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการพัฒนา จึงยื่นขอยุติการสำรวจและคืนพื้นที่แปลงสำรวจในปลายไตรมาส 3/62 โดยจะมีผลสมบูรณ์เมื่อได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมา

ส่วนโครงการเมียนมา เอ็มโอจีอี 3 ได้เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ 4 หลุม โดยจากการวิเคราะห์ผลเจาะหลุม ไม่พบแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการพัฒนา จึงได้มีการตัดจำหน่ายหลุมสำรวจทั้งหมดในปี 62

ด้านนายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของปตท.สผ. กล่าวว่า ในปี 63 ปตท.สผ. จะมุ่งดำเนินงานตามแผนการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินงานโครงการใหม่ที่ได้ในปีที่ผ่านมาให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) ที่กำลังเตรียมแผนงานเพื่อให้ได้ปริมาณการผลิตตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต

โดยได้เริ่มวางแผนการเจาะหลุมสำรวจ การสร้างแท่นผลิตและท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงศึกษาการเตรียมความพร้อมในด้านอื่น ๆ ในส่วนของแหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ. ได้ประสานงานกับผู้รับสัมปทานรายเดิมและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ตามแผนและผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ปตท.สผ. จะเร่งกิจกรรมการสำรวจในโครงการที่มีศักยภาพสูง เน้นโครงการในมาเลเซียและเมียนมา เช่น โครงการเมียนมา เอ็มดี-7 และหลุมสำรวจลัง เลอบาห์-1อาร์ดีอาร์ 2 ในแปลงซาราวัก เอสเค 410บี ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในปีที่ผ่านมา ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจที่ถือเป็นการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของบริษัท รวมถึง แปลงสำรวจอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกันในประเทศมาเลเซีย เพื่อพิจารณาการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ปตท.สผ. ยังคงมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงการปัจจุบัน และผลักดันการพัฒนาโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ให้สามารถผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว

“ปี 62 นอกจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรายังสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมได้ตามเป้าหมายด้วย โดยจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตหากมีการสำรวจพบและพิสูจน์ทราบปริมาณสำรองในพื้นที่สำรวจต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างการเติบโตให้กับ ปตท.สผ. ไปพร้อม ๆ กับเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยในระยะยาว ส่วนในปี 63 นี้ ปตท.สผ.ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายขึ้นอีก 11%” นายพงศธร กล่าว

Back to top button