ครม.ไฟเขียวต่อสัญญา BEM นาน 15 ปี 8 เดือน ยุติทุกข้อพิพาท!

ครม.ไฟเขียวต่อสัญญา BEM นาน 15 ปี 8 เดือน ยุติทุกข้อพิพาท!


สืบเนื่องจากกรณีที่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้นำส่งรายละเอียดร่างสัญญาการขยายสัมปทานให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 15 ปี 8 เดือน แลกการยุติข้อพิพาทมูลค่ารวม 58,873 ล้านบาท มายังกระทรวงคมนาคมแล้ว เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ก่อนลงนามในสัญญากับ BEM

ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมตรี (ครม.) วันนี้ (18 ก.พ.63) มีมติเห็นชอบให้แก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวม 2 ฉบับ ตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 มาตรา 47 ประกอบพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ที่ให้ขยายเวลาสัมปทานทางด่วนออกไป 15 ปี 8 เดือนที่จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 28 ก.พ.63 เพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ทั้งหมด 17 คดี รวมถึงกรณีที่อาจทำให้เกิดข้อพิพาทในอนาคต

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเรื่องนี้เป็นกรณีที่มีทุนทรัพย์ในข้อพิพาทเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก และเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ประกอบกับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น จึงให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไปดำเนินการตรวจสอบอีกทางหนึ่ง

อนึ่ง ข้อตกลงระหว่าง กทพ.กับ BEM ในการขยายสัญญาสัมปทานเพื่อยุติทุกข้อพิพาทมูลค่ารวม 58,873 ล้านบาทนั้น ประกอบด้วย การขยายสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สูงสุดที่ 15 ปี 8 เดือน

โดยไม่มีการลงทุนสร้างทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท และทุกสัญญาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ตุลาคม 2578 พร้อมกัน คือ
1. ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B C ซึ่งจะหมดสัญญาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ขยายออกไปสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2578 (รวม 15 ปี 8 เดือน)
2. ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ซึ่งจะหมดสัญญาในวันที่ 22 เมษายน 2570 ขยายออกไปสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2578 (รวมระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน) และ
3. ทางด่วนบางปะอิน–ปากเกร็ด (C+) ซึ่งจะหมดสัญญาวันที่ 27 กันยายน 2569 ขยายออกไปสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2578 (รวมระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน)

ทั้งนี้ กทพ.จะได้ส่วนแบ่งรายได้เท่าเดิม คือ ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B กทพ.ได้ส่วนแบ่งรายได้ที่ 60% และ BEM ได้ 40% ส่วน C D และ C+ BEM ได้รายได้แบบ 100% โดยจะมีการปรับค่าผ่านทาง 10 ปี 1 ครั้ง 10 บาท ดังนั้นตลอดสัญญา 15 ปี 8 เดือน จะปรับค่าผ่านทางเพียง 1 ครั้ง
นอกจากนี้ BEM ยินยอมที่จะงดเว้นการเก็บค่าผ่านทางในวันหยุดนักขัตฤกษ์ตามประกาศของสำนักนายรัฐมนตรี ซึ่งจะมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ประมาณ 20 วันต่อปี รวม 15 ปี 8 เดือน เป็น 300 วัน รายได้ของ BEM จะหายไปประมาณ 10,000 ล้านบาท

คลิกเพื่อดูรายละเอียดข้อพิพาท

https://www.youtube.com/watch?v=6J8esH-_Y_o&feature=youtu.be

Back to top button