EIC กางแผนปี 63 ปรับกลยุทธ์แบรนด์ขนมอบ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครุ่นใหม่
EIC กางแผนปี 63 ปรับกลยุทธ์แบรนด์ขนมอบ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครุ่นใหม่
บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ EIC รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลการดำเนินงานและงบการเงินของบริษัทสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติรับรองไว้ในการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา
โดยผลการดำเนินงานสำหรับปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้และต้นทุนจากการขายสินค้าเพิ่มขึ้นมากเป็นผลจากบริษัทฯ รับรู้รายได้และต้นทุนของธุรกิจอาหารตั้งแต่วันที่เริ่มเข้าลงทุน โดยเริ่มรับรู้รายได้จากบริษัท เบค ชีส ทาร์ต (ไทยแลนด์) จำกัด ในเดือนมกราคม 2562 บริษัท อีสเทิร์นควีซีน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เครปส์ แอนด์ โค, ดีเวล๊อปเม้นท์ จำกัด ในเดือนสิงหาคม 2562 โดยมีสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้นจำนวน 174 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91 และมีอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายสินค้าร้อยละ 33
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีผลขาดทุนสำหรับปี 2562 จำนวน 22 ล้านบาทโดยมีสาเหตุหลักมาจาก ณ สิ้นปี 2562 บริษัทฯ จ้างผู้ประเมินอิสระเพื่อประเมินมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อย พบว่ามูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในบริษัท เบค ชีส ทาร์ต (ไทยแลนด์) จำกัด ลดลง บริษัทฯจึงบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องหมายการค้าจำนวน 23 ล้านบาทและขาดทุนจากการด้อยค่าค่าความนิยมจำนวน 92 ล้านบาท
ทั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมธุรกิจขนมอบและเบเกอรี่ในประเทศไทยมีการแข่งขันที่สูงทั้งจากคู่แข่งทางตรงและคู่แข่งทางอ้อม อันมีสาเหตุจาก (1) อุตสาหกรรมขนมอบและเบเกอรี่ในปัจจุบันมีการแข่งขันกันด้านราคา โดยให้ส่วนลด หรือสิ่งจูงใจทางการตลาดกับลูกค้าเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด (2) อุตสาหกรรมมีผู้ประกอบรายใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการรายใหม่มีอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรม (Barriers to entry) ที่ต่ำ ทั้งเงินลงทุนในการทำธุรกิจที่ไม่สูงมากนัก
อีกทั้งผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการในแต่ละรายแตกต่างกันไม่มาก ส่งผลให้ลูกค้ามีแนวโน้มที่จะทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และมีความภักดีต่อแบรนด์ต่ำ และ (3) อุตสาหกรรมยังประสบกับการแข่งขันจากคู่แข่งทางอ้อม เช่น ธุรกิจสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ และธุรกิจขนมหวานแบบไทยที่ได้รับความนิยมสูงขึ้น จากเหตุผลดังกล่าวนั้น ส่งผลให้ในปีพ.ศ. 2562 มีร้านขนมอบและเบเกอรี่เปิดใหม่ทั้งสิ้น 3,247 ร้าน หรือมีอัตราการเปิดร้านใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 33.5 สะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ บริษัท เบค ชีส ทาร์ต (ไทยแลนด์) จำกัด อยู่ภายใต้การดำเนินธุรกิจแบบแฟรนไชส์ ซึ่งมีข้อกำหนดจากเจ้าของสิทธิการค้า (Franchisor) ในประเทศญี่ปุ่นที่เข้มงวด เช่น ต้องมีการขออนุมัติเรื่องการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มรูปแบบและรสชาติของผลิตภัณฑ์ การกำหนดและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาด การออกแบบและการกำหนดทำเลที่ตั้งของร้าน โดยทุกขั้นตอนต้องได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจากเจ้าของสิทธิการค้า ซึ่งในบางรายการใช้ระยะเวลานานถึง 3-4 เดือน อันส่งผลให้บริษัทฯ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นกระแสนิยมในขณะนั้นได้ทัน
ส่งผลให้บริษัทฯ สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดธุรกิจขนมอบและเบเกอรี่ไปให้กับคู่แข่ง อันส่งผลให้สาขาที่ตั้งอยู่ในทำเลที่มีการแข่งขันที่สูงยิ่งประสบกับปัญหาขาดทุน และต้องปิดตัวลง ทำให้เกิดการด้อยค่าของเครื่องหมายการค้าและความนิยมดังกล่าวขึ้น
นายศิรัตน์ รัตนไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน เผยว่า “บริษัทฯ ตระหนักดีถึงข้อจำกัดของบริษัท เบค ชีส ทาร์ต (ไทยแลนด์) จำกัด ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้มีพยายามหารือร่วมกับเจ้าของสิทธิการค้า (Franchisor) ในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ ยังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัท เบค ชีส ทาร์ต (ไทยแลนด์) จำกัด และทีมงานอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการจัดทำแผนกลยุทธ์ใหม่โดยมุ่งเน้นไปที่จุดแข็งของบริษัท เบค ชีส ทาร์ต (ไทยแลนด์) จำกัด ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการสรรหาทำเลในการดำเนินธุรกิจที่มีศักยภาพ และความสามารถในการเจรจาสรรหา Partner ใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงการต่อยอดธุรกิจกับ Partner เดิมในปัจจุบัน โดยบริษัทฯ จะมีแนวทางที่จะบริหารพื้นที่ร้านค้าของบริษัทฯ ในปัจจุบันให้มีศักยภาพมากขึ้นเช่นการรวมแบรนด์สินค้าหลายแบรนด์ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายคงที่ต่าง ๆ เพิ่มความคล่องตัวในการทำกลยุทธ์ทางการตลาดร่วมกันระหว่างแบรนด์
รวมทั้งใช้จุดแข็งในทำเลที่ตั้งในปัจจุบันที่มีผู้สัญจรผ่านอย่างหนาแน่นเพื่อที่จะสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) และบริษัทฯ ยังมีนโยบายที่จะเริ่มดำเนินธุรกิจแบบ Co-Branding ซึ่งบริษัทฯ จะดำเนินการร่วมกับร้านอาหารหรือร้านขนมอื่นที่กำลังอยู่ในกระแสความนิยม เพื่อดึงดูดความสนใจและทำให้ลูกค้ากลับเข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ
รวมถึงเพื่อเปิดโอกาสให้บริษัท Partner มีโอกาสโฆษณาสินค้าตนเองในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ซึ่งบริษัทฯ มองว่าจะเป็นแผนธุรกิจที่ win-win ทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการสรุปแนวทางการดำเนินการ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาส 2
ส่วนของแบรนด์ Kagonoya, Crepe and Co และ Le Boeuf ปัจจุบันยังไม่มีนโยบายปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจแต่อย่างใด เนื่องจากทั้งสามแบรนด์ ยังคงเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงและมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจอาหารของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ มีแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้าใหม่เป็นของตัวเองเพิ่มเติม