ดักเก็บ JMT ก่อน XD ปันผล 0.33 บ. ฟากโบรกฯฟันกำไรโตแกร่ง รับพอร์ตบริหารหนี้เพิ่ม
ดักเก็บ JMT ก่อน XD ปันผล 0.33 บ. ฟากโบรกฯฟันกำไรโตแกร่ง รับพอร์ตบริหารหนี้เพิ่ม
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวมรวมข้อมูลและบทวิเคราะห์หุ้น บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT โดยเตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 9 เม.ย.2563 หลังบริษัทอนุมัติจ่ายปันผลจากงวดดำเนินงานวันที่ 1 ก.ค. 2562 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 เป็นเงินสดในอัตรา 0.33 บาท/หุ้น กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 เม.ย.2563
ส่วนทางด้านนักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่แนะนำ “ซื้อ” JMT หลังมองเศรษฐกิจยังชะลอต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อJMT ที่จะสามารถซื้อหนี้เข้ามาบริหารในพอร์ตเพิ่มขึ้น หลังแนวโน้ม NPL ที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการเงินก็จะทำให้มีการขายหนี้ออกมาเพื่อรักษาระดับ NPL ไม่ให้สูงมากเกินไป หนุนพอร์ตบริหารหนี้ของ JMT เพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อน
โดย นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาเป้าหมายหุ้น JMT ที่ 23 บาท/หุ้น แนะ “ทยอยสะสม” คาดแนวโน้มกำไรจะยังทำ All time high ได้ทุกไตรมาส จากรายได้ของการเรียกเก็บหนี้ที่เพิ่มขึ้นตามพอร์ตหรือฐานลูกหนี้ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพอร์ตหนี้ในการบริหารทั้งหมด 1.4 แสนล้านบาท สามารถสร้างกระแสเงินสดต่อเนื่องไปได้อีกอย่างน้อย 12 ปี
ด้าน นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” JMT ราคาเป้าหมาย 21.80 บาท/หุ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นปัจจัยหนุนต่อธุรกิจที่จะสามารถซื้อหนี้เข้ามาบริหารในพอร์ตได้เพิ่มขึ้นอีก จากแนวโน้มระดับ NPL ของสถาบันการเงินที่อาจจะเพิ่มขึ้นสูง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้คาดว่าจะมีการขายมูลหนี้ออกมามากขึ้นในปีนี้ ทำให้พอร์ตหนี้ NPL ที่ JMT บริหารจะเติบโตได้ราว 15% จากปีก่อนที่ 1.74 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลบวกต่อผลการดำเนิน
ขณะที่สถานการณ์การจัดเก็บหนี้ยังต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างไรในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะลูกหนี้บางรายอาจได้รับผลกระทบและมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง แต่เชื่อว่าจากความเชี่ยวชาญของ JMT จะยังสามารถบริหารจัดการการจัดเก็บหนี้ได้อย่างดี ส่วนธุรกิจประกันที่ยังเป็นแรงกดดันผลการดำเนินงานนั้น คาดว่าหากสามารถปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์ประกันมาที่นอกกลุ่มรถยนต์มากขึ้น จะช่วยให้อัตราการเคลมลดลง ส่งผลบวกต่อค่าใช้จ่ายที่ลดลง และทำให้ธุรกิจประกันจะกลับมามีกำไรในช่วงครึ่งปีหลัง ช่วยหนุนผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังที่มีโอกาสดีกว่าครึ่งปีแรก
ส่วน นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” JMT ราคาเป้าหมาย 21.60 บาท/หุ้น ยังชื่นชอบธุรกิจบริหารหนี้ฯที่สามารถปรับตัวและหาโอกาสได้ในแต่ละวงรอบเศรษฐกิจ ช่วงเวลาที่ท้าทายของเศรษฐกิจและหลายอุตสาหกรรม เป็นโอกาสของ JMT ที่จะเข้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพในราคาที่มีส่วนลด เช่นเดียวกับราคาหุ้นปรับตัวลงมา PEG < 0.5 เท่า เป็นโอกาสของนักลงทุน
ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ การจัดเก็บเงินสดยังใกล้เคียงกับช่วงปลายปีก่อนการระบาด COVID-19 เนื่องจากหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ส่วนใหญ่มีความพยายามดีที่จะปรับปรุงสถานะเครดิตของตน และได้ผ่านการปรับโครงสร้างไปแล้วทั้งจำนวนและรอบการจ่ายอย่างเหมาะสม
ส่วนหนี้ที่มีหลักประกัน การผ่อนต่องวดยังดำเนินตามปกติ มีเพียงส่วนน้อยมากที่ได้รับผลกระทบหนักและต้องการความช่วยเหลือในระยะสั้น (ลดเงินผ่อน/งวด 2-3 เดือน) ทั้งนี้ประเมินยอดจัดเก็บเงินสดไตรมาส 1/63 อยู่ระดับ 900 ล้านบาท (ไตรมาส 4/62 ทำได้ 931 ล้านบาท) ส่วนธุรกิจประกันกรมธรรม์ COVID-19 นั้นได้รับผลตอบรับดีมาก แม้จะขาดทุนในไตรมาสนี้ เพราะต้องบันทึกค่าใช้จ่ายคอมมิชชันเข้ามาทันที ก่อนที่จะทยอยรับรู้รายได้ช่วงที่เหลือของปี
โดยในเบื้องต้นคาดกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1/63 อยู่ในกรอบ 190-200 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และเติบโตราว 30-38% เมื่อเทียบจากปีก่อน และคาดการเติบโตกำไรสุทธิปีนี้เท่ากับ 28% เมื่อเทียบจากปีก่อน
นอกจากนี้ยังคงเห็นแนวโน้มของ NPL ในระบบจะยังเร่งตัว 0.5% ของสินเชื่อในระบบในปี 2563-2565 หรือคิดเป็นมูลค่า 5-6 หมื่นล้านบาท/ปี จากสิ้นปีก่อนที่ 4% เท่ากับ 4.66 แสนล้านบาท แม้จะมีมาตรการช่วยลูกหนี้พักชำระ 3-6 เดือน แต่ประเมินว่าผลกระทบยังกดดันไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3
ขณะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะค่อยเป็นค่อยไปในไตรมาส 4/63 ถึงปี 2564 ดังนั้นธนาคารจึงต้องทยอยขยายหนี้ด้อยคุณภาพบางส่วนไปพร้อมกัน เป็นโอกาสที่จะเลือกตุนหนี้เข้าพอร์ต JMT ยังมีวงเงินกู้จากธนาคารกว่า 6 พันล้านบาท จากหลายสถาบันการเงิน ทำให้ประเด็นสภาพคล่องนั้นไม่น่ากังวล
เช่นเดียวกับ นักวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” JMT ราคาเป้าหมาย 21 บาท/หุ้น จากแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จะทำให้มีโอกาสซื้อหนี้ NPL เข้ามาบริหารได้มากขึ้น จากการที่ NPL ของสถาบันการเงินมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ และการที่เริ่มบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ในปีนี้ ทำให้สถาบันการเงินต้องตั้งสำรองฯที่เข้มงวด ส่งผลให้สถาบันการเงินต่างบริหารจัดการคุณภาพหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็อาจจะทำให้ขายหนี้ NPL ออกมาค่อนข้างมากในปีนี้ ซึ่งเป็นโอกาสของ JMT ในการขยายพอร์ตบริหารหนี้เพิ่มขึ้น ช่วยหนุนผลการดำเนินงาน
ขณะที่การจัดเก็บหนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว อาจจะส่งผลกระทบบ้าง แต่มองว่า JMT มีแนวทางในการบริหารจัดการเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพ และคาดว่าจะสามารถเก็บหนี้ในปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4 พันล้านบาท ส่วนธุรกิจประกันยังคงเป็นแรงกดดันภาพรวมผลการดำเนินงานอยู่ ตามแผนงานของ JMT จะลดอัตราการเคลมให้ลดลงเพื่อทำให้ค่าใช้จ่ายในการเคลมลดลง และไม่เร่งการขายประกันมาก เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจประกันจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ในครึ่งปีหลัง ช่วยหนุนผลการดำเนินงานในปีนี้