KTB ประกาศพักชำระหนี้เอสเอ็มอี 6 เดือน พร้อมปล่อยซอฟต์โลนปลอดดอก หนุนลูกค้าฝ่าวิกฤตโควิด

KTB ประกาศพักชำระหนี้เอสเอ็มอี 6 เดือน พร้อมปล่อยซอฟต์โลนปลอดดอก หนุนลูกค้าฝ่าวิกฤตโควิด


นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ล่าสุดธนาคารกรุงไทยร่วมมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SME ของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นไปตามร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ โดยประกาศพักชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย 6 เดือน ให้กับลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อรับมือกับรายจ่ายที่จำเป็นของธุรกิจ เริ่มมีผลเดือนเมษายน-กันยายน 2563  เพื่อช่วยเหลือลูกค้าทั้งรายย่อยและลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและวิกฤติโควิด-19 อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กลุ่มลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ 31 ธันวาคม 2562 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี โดยธนาคารไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้

โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มทุกขนาด โดยออกมาตรการเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมมาโดยตลอด ด้วยการพักชำระเงินต้น 12 เดือนให้กับลูกค้ารายย่อย พักชำระเงินต้น 12 เดือน ขยายระยะเวลาชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อ Trade Finance ออกไป 6 เดือน สำหรับลูกค้าธุรกิจที่มีรายได้ลดลง พักชำระหนี้ให้ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจที่มีสถานะชำระปกติทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน ทั้งสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท สินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท

รวมทั้งให้สินเชื่อกรุงไทยต้านภัยโควิด-19 ดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 2% ต่อปี คงที่ 2 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม บสย. ค้ำประกัน 4 ปี ทำธุรกรรมโอน รับ จ่าย ไม่คิดค่าธรรมเนียมนาน 1 ปี สำหรับลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม รถเช่า ร้านขายของฝาก ของที่ระลึก ซึ่งขณะนี้ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วกว่า 3,500 ราย วงเงินกว่า 40,000 ล้านบาท และมีลูกค้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีกกว่า 70,000 ราย วงเงินประมาณ 280,000 ล้านบาท รวมวงเงินช่วยเหลือ 320,000 ล้านบาท

Back to top button