SCC หั่นงบลงทุนปีนี้เหลือ 6.5 หมื่นลบ. หลังมองศก.ไม่สดใส-กำไรไตรมาส 1 ทรุด 40%

SCC หั่นงบลงทุนปีนี้เหลือ 6.5 หมื่นลบ. หลังมองศก.ยังไม่สดใส-กำไรไตรมาส 1 ทรุด 40%


บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC แจ้งว่าบริษัทคาดการณ์รายจ่ายลงทุนและเงินลงทุนที่จะเกิดขึ้นในปี 63 ปรับลงอยู่ที่ประมาณ 55,000 – 65,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ในช่วง 60,000-70,000 ล้านบาท โดยพิจารณาจากปัจจัยสภาพการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และการดำเนินงานด้านโครงการขยายกำลังการผลิต การก่อสร้างโรงงานใหม่ และการปรับปรุงประสิทธิภาพ

ขณะที่ในไตรมาส 1/63 มีรายจ่ายลงทุนและเงินลงทุน ในระดับ 12,261 ล้านบาท โดยสัดส่วนการลงทุนเป็นของธุรกิจเคมิคอลส์ 55% ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 21% ธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง 20% และส่วนงานอื่น 4%

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 มีกำไรสุทธิ 6,971 ล้านบาท ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย, ภาษี, ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 15,424 ล้านบาท ลดลง 26% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสก่อนเป็นช่วงที่มีรายได้เงินปันผลรับจากบริษัทร่วม รายได้จากการขายเท่ากับ 105,741 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน สาเหตุจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง ในขณะที่ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขายลดลง

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวดลดลง 40% และ EBITDA ลดลง 21% ตามผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าลดลง ทั้งนี้ รายได้จากการขายลดลง 6% จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม เอสซีจียังคงมีโครงสร้างทางการเงินที่มั่นคงโดยมีเงินสดและเงินสดภายใต้การบริหาร ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/63 เท่ากับ 84,333 ล้านบาท ขณะที่ ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/62 อยู่ที่ 46,002 ล้านบาท ขณะที่มีเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ 70,898 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยมีอัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือต่อยอดขายเท่ากับ 46 วัน ลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับ 48 วันในไตรมาสก่อน

ขณะที่มีหนี้สินสุทธิ 190,406 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,995 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน อ้างอิงจาก EBITDA ย้อนหลัง 12 เดือน ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA เท่ากับ 2.7 เท่า เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/62 ซึ่งอยู่ที่ 2.4 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA (ไม่รวมโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) เท่ากับ 1.9 เท่า

ด้านต้นทุนทางการเงินในไตรมาสที่ 1/63  เท่ากับ 3,113 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 1,810 ล้านบาท และการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจานวน 1,303 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนทางการเงินในปี 62 เท่ากับ 6,442 ล้านบาท อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/63 อยู่ที่ 3.0% ซึ่งต่ากว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ปี 62 ที่ 3.1%

สำหรับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในช่วงไตรมาส 1/63 ตลาดปูนซีเมนต์ โดยรวมในประเทศไทยหดตัวลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยความต้องการภาครัฐ (สัดส่วนประมาณ 40% ของตลาด) หดตัวลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการภาคเอกชนและภาคครัวเรือน (สัดส่วนประมาณ 60% ของตลาด) หดตัวลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านราคาเฉลี่ยปูนซีเมนต์ เพิ่มขึ้น ประมาณ 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ช่วงราคา 1,800 – 1,850 บาทต่อตัน จากการนำเสนอโซลูชันที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ธุรกิจเคมิคอลส์ ในไตรมาสที่ 1/63  ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลง 12 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาแนฟทา  ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ 19% มาอยู่ที่ 440 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยน้ำมันดิบได้รับปัจจัยจากการที่อุปสงค์น้ำมันดิบลดลงจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และอุปทานเพิ่มขึ้นจากผลกระทบสงครามราคาน้ำมันของกลุ่มประเทศผลิตน้ำมัน ขณะที่ราคาแนฟทาปรับตัวลดลงในเดือนมีนาคมตามราคาน้ำมันดิบ ประกอบกับปัจจัยอุปสงค์ที่ลดลงของแก๊สโซลีน

โดยภาพรวมราคาเม็ดพลาสติกลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ลดลงจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แต่ขณะเดียวกันอุปทานได้ลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการลดกำลังการผลิตของโรงงานในภูมิภาค โดยราคา HDPE ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน 2 เหรียญสหรัฐต่อตัน มาอยู่ที่ 839 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ขณะที่ราคา PP ปรับลดลง 65 เหรียญสหรัฐต่อตันหรือ 6% มาอยู่ที่ 991 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่เนื่องจากราคาแนฟทาที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญส่งผลให้ส่วนต่างราคาเฉลี่ย HDPE-แนฟทา ปรับเพิ่มขึ้น 97 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ 32% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 398 เหรียญสหรัฐต่อตัน และส่วนต่างราคาเฉลี่ย PP-แนฟทา ปรับเพิ่มขึ้น 35 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ 7% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 551 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ส่วนธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 1/63 “สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร” มีรายได้จากการขาย (ก่อนการตัดรายการระหว่างกัน) อยู่ที่ 20,224 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 83% ของรายได้จากการขายรวมของธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง โดยมี EBITDA เท่ากับ 4,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA Margin ที่ 22%

Back to top button