ธปท. ชี้แจง “ปล้นกลางแดด อุ้มเจ้าสัว”
ธปท. ชี้แจง "ปล้นกลางแดด อุ้มเจ้าสัว"
สืบเนื่องจากกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเรื่อง นโยบาย แนวทางการดำเนินงาน กรอบการลงทุน และกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุนตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) ตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุน BSF
โดยเปิดให้เอกชนเข้าร่วมโครงการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเพราะตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ด้วยวงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งประเด็นดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของ ธปท. และถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งหนังสือชี้แจงกับหนังสือพิมพ์รายวัน “ข่าวหุ้นธุรกิจ” หลังจากคอลัมน์พลวัตเขียนเรื่อง “ปล้นกลางแดด อุ้มเจ้าสัว” เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 โดยเป็นการนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน” (Corporate Bond Stabilization Fund หรือ BSF)
ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่า ข้อมูลที่มีการเขียนในคอลัมน์นั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง พร้อมกับชี้แจงอีกว่า การจัดตั้งกองทุน BSF เป็นมาตรการดูแล และมีเป้าหมายสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท
โดย ธปท.ยังได้ส่งข้อมูลด้วยการอ้างอิงกับข้อมูลเกี่ยวกับการออกมาตรการ “BSF” ผ่านเว็บไซต์ของ ธปท. โดยหนึ่งในข้อมูลสำคัญ คือ เมื่อเดือน ก.พ.2563 การถือครองตราสารหนี้ภาคเอกชนของนักลงทุนต่างชาติมีเพียง 9 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 0.2% ของยอดคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า นักลงทุนที่ถือตราสารหนี้ภาคเอกชน เป็นการลงทุนจากประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ลงทุนผ่านกองทุนรวม สหกรณ์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญ และประกันสังคม รวมกว่า 70% ของตราสารหนี้ทั้งหมด ขณะที่มีนักลงทุนต่างชาติมีเพียง 0.2% หรือมูลค่า 9 พันล้านบาท ของยอดคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งหมดธปท.ชี้แจงในหนังสือ
นอกจากนี้ ธปท ยังได้ส่งข้อมูลสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้เอกชนประกอบด้วย
1.ประชาชนลงทุนโดยตรง 30.2% โดยในส่วนนี้แบ่งเป็นการขายให้กับประชาชนทั่วไปประมาณ 14.5% และขายแบบวงจำกัด ประมาณ 15.7%
2.ประชาชนลงทุนทางอ้อม 40.5% ซึ่งในส่วนนี้แบ่งเป็น 1.กองทุนรวม ประมาณ 17.3% 2.สหกรณ์ ประมาณ 9.2% 3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประมาณ 9.1% 4.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ประมาณ 2.3% 5.ประกันสังคม ประมาณ 2.6%
3.ประกันชีวิต 15.7%
4.สถาบันการเงิน / ธนาคารพาณิชย์ 7.6%
5.บริษัทและนิติบุคคล 4%
6.ส่วนราชการ 1.8% เช่น โรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยสังกัดรัฐบาล
7.นักลงทุนต่างชาติ 0.2%