CENTEL หั่นงบลงทุนปีนี้เหลือ 4.5 พันลบ. รักษาสภาพคล่อง คาดธุรกิจครึ่งหลังฟื้น

CENTEL หั่นงบลงทุนปีนี้เหลือ 4.5 พันลบ. รักษาสภาพคล่อง คาดธุรกิจครึ่งหลังฟื้น


นายรณชิต มหัทธนะพฤกธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับลดงบลงทุนในปี 63 ประมาณ 50% มาอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท โดยเลื่อนการลงทุนโรงแรมใหม่ออกไป ทั้งนี้ แบ่งเป็นการลงทุนธุรกิจโรงแรม 3,900 ล้านบาท และ 560 ล้านบาท ลงทุนธุรกิจอาหารเน้นการขยายสาขา ส่วนในปี 64 มีงบลงทุน 4,700 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจโรงแรม 3,800 ล้านบาท และธุรกิจอาหาร 900 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 62-66) มีจำนวนรวม 18,000 ล้านบาท ที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนธุรกิจโรงแรม โดยงบนี้รวมถึงดีลเข้าเทคโอเวอร์หรือควบรวมกิจการ (M&A) ไว้ด้วย โดยงบลงทุนจะเร่งตัวในช่วงปี 65-66 ทั้งนี้ เมื่อสิ้นปี 62 มีอัตราหนี้สินต่อทุน 1.25 เท่า ฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าสรุปดีลเทคโอเวอร์แบรนด์ร้านอาหารในประเทศในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

โดยคาดว่าปีนี้รายได้จากธุรกิจโรงแรมปรับตัวลดลงตามรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (Rev Par) ลดลง 40-50% เป็นไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงไปถึง 50-65% จากปีก่อน โดยมีการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย 16 ล้านคนในปี 63 ซึ่งในไตรมาส 1/63 นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไป 38% ส่วนธุรกิจอาหารคาดว่าจะมียอดขายลดลง 12%

สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปี 63 จากช่วงครึ่งแรกของปีนี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในไตรมาส 2/63 ธุรกิจโรงแรมเป็นช่วงโลว์ซีซั่น แต่หลังจากมาตรการผ่อนคลาย และมีแนวโน้มจะผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 น่าจะพลิกฟื้นได้ในช่วงไตรมาส 3-ไตรมาส 4 โดยมีนักท่องเที่ยวในประเทศกลับเข้ามาก่อน และนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนก็กลับมา จากในไตรมาส 1/63 รับผลกระทบโควิด-19 ตั้งแต่ปลายเดือนม.ค. ที่ไม่ให้นักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาทำให้มีจำนวนลดลง 60%

ขณะที่ธุรกิจอาหารคาดว่าค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังภาครัฐให้เปิดห้างสรรพสินค้าได้เมื่อ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา เริ่มเห็นคนเดินห้างมากขึ้นและมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ และคาดจะเห็นการเติบโตกลับมาปกติในไตรมาส 4/63 หลังจากในไตรมาส 1/63 ยอดขายลดลง 2.9% ซึ่งรับผลการปิดร้านและเน้นไปส่งอาหารดิลิเวอร์รี่

“ปีนี้ยอมรับผลกระทบโควิดค่อนข้างมาก ในไตรมาส 2 ยอมรับว่า เป็นช่วงโลว์ซีซั่นด้วย น่าจะฟื้นตัวได้หลังคลายล็อก น่าจะเป็นครึ่งหลัง คาดเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ ตามมาด้วยนักท่องที่ยวอาเซียน ส่วนธุรกิจอาหารจะมีการขยายสาขาปีนี้อาจเริ่มในไตรมาส 3/63 หลังจากที่ 17 พ.ค.ผ่อนปรนเปิดธุรกิจอาหาร มองว่า น่าจะยอดขายรวมลดลง 12% จำนวนสาขาจะใกล้เคียงปีก่อน”นายรณชิต กล่าว

ด้านนายกันย์ ศรีสมพงษ์ ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายการเงินและบริหารสินทรัพย์ CENTEL กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนเลื่อนเปิดโรงแรมออกไป ทั้งที่ลงทุนเองและที่ร่วมทุน การเลื่อนออกไปเป็นประโยชน์กับบริษัท เพราะปัจจุบันมีดีมานด์หรือผู้เข้าพักค่อนข้างต่ำ โดยมีโรงแรมอยู่ในแผนพัฒนาจำนวน 35 แห่ง โดยเป็นโรงแรมที่ลงทุนเอง 5 แห่ง และโรงแรมที่ทำสัญญาบริหารจัดการ 30 แห่ง รวมจำนวนห้อง 8,929 ห้อง จากปัจจุบันจำนวนห้องพัก 7,808 ห้อง ทำให้มีจำนวนรวม 16,737 ห้อง โดยเป็นเจ้าของเอง 36% และบริหารจัดการ 64%

ทั้งนี้ ได้เลื่อนการเปิดโรงแรมที่ดูไบที่เป็นโครงการร่วมทุนกับทุนท้องถิ่นที่ CENTEL ลงทุน 40% ในไตรมาส 4/63 ไปเป็นไตรมาส 4/64 หลังจากงาน EXPO ได้เลื่อนการจัดงานออกไปปลายปีหน้า นอกจากการปรับลดการลงทุน บริษัทเน้นลดค่าใช้จ่าย ต้นทุนการบริหารจัดการ สำหรับครึ่งหลังปีนี้ จะมีการเปิดโรงแรมในลาว เมียนมา ตุรกี การ์ตา และไทย รวมจำนวนห้อง 1,200 ห้อง

อย่างไรก็ตาม สิ้น เม.ย.63 บริษัทเปิดดำเนินการโรงแรม 7 แห่งเท่านั้น เพราะหากเปิดทั้งหมดจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงในขณะที่ผู้เข้าพักน้อยลงตามจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ โรงแรมในกรุงเทพฯมีอัตราเข้าพักลดลง 34% มากกว่าในต่างจังหวัดที่ 28% และรายได้เฉลี่ยต่อห้องก็ปรับตัวลดลง 16.2% มากกว่าในต่างจังหวัด ที่ลดลง 5-6%

Back to top button