CNT คงเป้ารายได้ปีนี้โต 10% แตะ 8 พันลบ. หลังตุนแบ็กล็อกแน่น-ประมูลงานใหม่ต่อเนื่อง
CNT คงเป้ารายได้ปีนี้โต 10% แตะ 8 พันลบ. หลังตุนแบ็กล็อกแน่น-ประมูลงานใหม่ต่อเนื่อง
นายสุรศักดิ์ โอสถานุเคราะห์ กรรมการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CNT เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ 8,000 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 7,348 ล้านบาท จากงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่จำนวน 11,047 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1/63 ที่คาดจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ 40% หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท รวมทั้งบริษัทมีงานที่กำลังยื่นประมูลและรอติดตามงาน รวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นงานภาครัฐ อีกครึ่งหนึ่งเป็นงานเอกชนและต่างชาติ คาดว่าจะทราบผลประมาณครึ่งหนึ่งในไตรมาส 3/63
สำหรับงานก่อสร้างในปีนี้ซบเซามาก โดยในไตรมาส 1/63 บริษัทได้รับงานใหม่เพียง 95 ล้านบาท จากในปี 62 บริษัทได้งานใหม่ 6,730 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 บริษัทจะพยายามทำให้ดีที่สุด โดยส่วนใหญ่ก็ยังทำได้ตามแผน ยกเว้นงานที่ต้องเดินทางประสานงานกับต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 บ้าง แต่เชื่อว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นอย่างช้า ๆ ก็คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 จะทรงตัวได้
อย่างไรก็ตามในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 รายได้ของบริษัทไม่ค่อยดี สิ่งที่ทำได้คือการควบคุมค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนบริษัท ซึ่งขณะนี้ก็ได้ดำเนินการลดต้นทุน และลดงบประมาณที่ตั้งไว้ 200 ล้านบาท โดยพยายามใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ส่วนการขายหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 75 ล้านหุ้นให้กับบุคคลในวงจำกัด (PP) นั้น บริษัทต้องการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับพันธมิตร ที่สามารถ synergy เข้ามาช่วยธุรกิจให้เดินหน้าได้ ไม่ใช่ต้องการเงินอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้ก็กำลังมองหาอยู่ แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ณ สิ้นมี.ค.63 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E)ที่ 2.34 เท่า โดยบริษัทยังไม่มีแผนออกหุ้นกู้
ด้าน นายวิเทศ รัตนากร กรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ CNT เปิดเผยว่า จำนวนงานประมูลก่อสร้างที่ออกมาน้อย ทำให้มีการแข่งขันอาจสูงขึ้น กลยุทธ์หลักปีนี้จะเน้นงานภาครัฐเป็นพิเศษ เพราะงานภาครัฐจะออกมามากเพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้จะมีงานโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังมีการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งบริษัทจะเน้นหนัก 2 กลุ่มนี้
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 บริษัทได้รับผลกระทบทางตรงบ้างแต่ไม่มาก เช่น วัสดุอุปกรณ์ การผลิตของโรงงานได้รับผลกระทบจากแรงงานที่ลดลง เป็นต้น