AH รับรายได้ปีนี้วูบ 40% เซ่นอุตฯยานยนต์หดตัว
AH รับรายได้ปีนี้วูบ 40% เซ่นอุตฯยานยนต์หดตัว
นายเย็บ ซู ชวน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH เปิดเผยว่า บริษัทฯคาดรายได้ปีนี้ปรับตัวลดลง 40% เป็นไปตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัว อ้างอิงข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่คาดการณ์ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยปี 63 จะอยู่ที่ 1.33 ล้านคัน ประกอบด้วย การผลิตเพื่อการส่งออก 665,000 คัน, และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จำนวน 665,000 คัน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียอดการผลิตรถยนต์ในไทยอยู่ที่ 2.01 ล้านคัน
ขณะที่ในไตรมาส 1/63 มียอดการผลิตในประเทศอยู่ที่ 453,682 คัน ลดลง 19.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ที่ 561,487 คัน แบ่งเป็น ยอดผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศที่ 200,064 คัน ลดลง 24.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 263,549 คัน และยอดผลิตเพื่อการส่งออกอยู่ที่ 250,281 คัน ลดลง 16.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 299,841 คัน
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อทั้งในตลาดโลกและภายในประเทศ ซึ่งจากความไม่แน่นอนของผลกระทบดังกล่าว ทำให้มองว่าอาจจะเห็นการปรับประมาณการของยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศลงอีก
สำหรับทิศทางของกำไรในปีนี้ คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน โดยอยู่ระหว่างรอดูสถานการณ์ฯ หลังสิ้นสุดไตรมาส 2/63 เพื่อประเมินแนวโน้มกำไรอีกครั้ง
“ด้วยผลกระทบของโควิด-19 คาดว่ายอดการผลิตรถยนต์จะลดลงค่อนข้างมาก บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญต่อกระแสเงินสดมากขึ้นในระยะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนทุกทาง ลด subcontract ลดกำลังการผลิต ลดค่าใช้จ่ายลง 50% โดยเฉพาะการปรับจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับประมาณการรายได้ที่ลดลง” นายเย็บ ซู ชวน กล่าว
ส่วนทิศทางตลาดต่างประเทศ ที่บริษัทฯ มีฐานการผลิตอยู่ ทั้งในประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย และโปรตุเกส ปัจจุบันจีน มีการฟื้นตัวแล้ว โดย AH คาดว่าตลาดในประเทศจีนจะลดลงราว 12% ซึ่งกระแสเงินสดในการดำเนินงานของโรงงานในจีนถือว่ายังคงแข็งแกร่ง, ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมาเลเซีย ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้รายได้ลดลงค่อนข้างมาก แต่กระแสเงินสดและเงินทุนสำรองยังคงแข็งแกร่งอยู่
ขณะที่กระแสเงินสดของประเทศโปรตุเกส ปรับตัวดีขึ้น หลังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ให้เงินสนับสนุนมากถึง 80% ของเงินเดือนพนักงานทั้งหมด รวมถึงยังได้รับการสนับสนุนที่ดีจากธนาคาร เนื่องจากรัฐบาลฯ ได้ออกข้อบังคับในการให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมฯ และเพื่อการชำระหนี้คืนเงินกู้ หรือหนี้การค้าแก่ธนาคาร
ทั้งนี้แผนการขยายตลาดในต่างประเทศ บริษัทฯ ยังคงมองหาการขยายตลาดไปยังประเทศสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่เป็นหนึ่งในฐานลูกค้าหลัก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในอนาคต
นายเย็บ ซู ชวน กล่าวว่า บริษัทฯ ยอมรับว่าในไตรมาส 2/63 น่าจะพลิกกลับมาขาดทุนสุทธิ จากไตรมาส 1/63 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 321 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ยอดขายปรับตัวลดลงไปค่อนข้างมาก ทำให้คาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 น่าจะเป็นไตรมาสที่ต่ำที่สุดของบริษัทฯ และคาดว่ายอดขายน่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่เดือนก.ค.63 เป็นต้นไป