EPG เป้ารายได้ปี 63/64 แตะ 9 พันลบ. ปรับกลยุทธ์สู้โควิด ลดค่าใช้จ่าย-คงกำไรขั้นต้น 30%
EPG เป้ารายได้ปี 63/64 แตะ 9 พันลบ. ปรับกลยุทธ์สู้โควิด ลดค่าใช้จ่าย-คงกำไรขั้นต้น 30%
ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ทั่วโลกในขณะนี้ ทำให้มีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจในหลายประเทศอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงคาดว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจช่วงต่อจากนี้
โดยในปีบัญชี 63/64 (เม.ย.63 – มี.ค.64) บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้จากการขายที่ 9,000 ล้านบาท และรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นที่ 28-30% โดยนำนโยบาย “USE” (U: Utilization การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า S: Save การประหยัดค่าใช้จ่าย และ E: Efficiency การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน) มาใช้บริหารงานภายในองค์กร เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
ทั้งนี้ในปีบัญชี 63/64 บริษัทจะรักษาดับความแข็งแกร่งของงบแสดงฐานะการเงิน ให้มีสภาพคล่องสูง เพื่อให้บริษัทมีเสถียรภาพระบบการเงิน จะเห็นได้ว่ารอบปีบัญชี 62/63 ที่ผ่านมา (เม.ย.62 -มี.ค.63) บริษัทได้ปรับโครงสร้างทางการเงินโดยการออกหุ้นกู้ ระยะเวลา 3 ปี มูลค่า 800 ล้านบาท เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ระยะสั้นเดิม ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) เท่ากับ 0.3 เท่า และอัตราส่วนของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E ratio) เท่ากับ 0.2 เท่า มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยแต่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงมีอัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงที่ 2.4 เท่า นอกจากนี้ บริษัทจะบริหารจัดการต้นทุน จากการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสมจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งราคาวัตถุดิบกลุ่มปิโตรเคมีมีแนวโน้มลดลง จึงคาดว่าบริษัทได้รับประโยชน์ในช่วง 1 – 2 ปีนี้
สำหรับแผนการดำเนินงานใน 3 กลุ่มธุรกิจ มีดังนี้ ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ AEROFLEX ตั้งเป้าทำการตลาดสำหรับสินค้าพรีเมี่ยมเป็นหลัก ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น อีกทั้งฉนวน AEROFLEX เป็นสินค้าจำเป็น ที่ใช้ในระบบปรับอากาศ อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง อุตสาหกรรมยา และคลีนรูม จึงช่วยให้ AEROFLEX สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ สำหรับการลงทุนขยายโรงงานผลิตในประเทศไทย AFC โรงงาน 5 ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว
โดยมีกำลังการผลิต 6,000 ตันต่อปี เพื่อผลิตสินค้าประเภทฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา (AERO-ROOF) และกลุ่มฉนวนยางท่อ ซึ่งจะสามารถขยายตลาดไปทั่วทวีปเอเชียทุกภูมิภาค ส่วนฐานการผลิตในสหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างการลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ โดยจะนำเครื่องจักรระบบ High speed มาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งการลงทุนใหม่นี้จะเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 2 เท่าของกำลังการผลิตในสหรัฐอเมริกาภายใน 2 ปีข้างหน้า
อีกทั้ง ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ภายใต้แบรนด์ AEROKLAS ได้รับผลกระทบทั้งจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายแห่งประกาศหยุดทำการชั่วคราว รวมถึงผลกระทบของตลาดยานยนต์โลกที่ซบเซา จึงกระทบกับยอดขายของ AEROKLAS พอสมควร อย่างไรก็ตาม AEROKLAS มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งทั้ง OEM ODM และ After Market จึงใช้ช่องทางดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเร่งให้เกิด Synergy ของกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของ AEROKLAS อีกทั้งได้ดำเนินการควบคุมต้นทุนการผลิตด้วยพัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต และควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารให้ดียิ่งขึ้น ด้านนวัตกรรม AEROKLAS ทำงานร่วมกับค่ายรถยนต์หลายแห่งเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากกลุ่มชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ เช่น กลุ่มพลังงานทดแทน การเกษตร และHealth Care เป็นต้น
ขณะที่ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP มุ่งเน้นขยายตลาดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทกล่องใส่อาหาร ถ้วยน้ำดื่ม และสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น EPP ให้ความสำคัญกับการนำกลยุทธ์ “Capacities Driven” มาบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้ง EPP ยังคงได้รับผลบวกจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ได้พัฒนาสินค้าใหม่หลายประเภท เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้วัตถุดิบประเภท Bio plastic และบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษเพื่อสามารถให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร รวมถึงได้คิดค้นสินค้านวัตกรรม “หน้ากากอเนกประสงค์ EP-Kare” เพื่อใช้แก้ปัญหาในช่วงที่หน้ากากอนามัยขาดแคลนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) โดยบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาหน้ากากอเนกประสงค์ EP-Kare ในเฟสต่อไปให้สามารถผลิตหน้ากาก N95 สำหรับใช้ในวงการแพทย์ และอาจจะแตกไลน์ธุรกิจใหม่ไปยังกลุ่ม Health care ในอนาคต
ทั้งนี้ เมื่อ 28 พ.ค.63 ที่ผ่านมา บริษัทได้แจ้งข่าวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการร่วมทุนจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศไทย โดยบริษัท แอร์โรคลาส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เข้าร่วมทุนกับ Farplas Otomotiv A.S. ประเทศตุรกี (บริษัท แอร์โรคลาส จำกัด ถือหุ้น 51% และ Farplas Otomotiv A.S.ถือหุ้น 49% ของทุนจดทะเบียนบริษัทใหม่ 100 ล้านบาท) เพื่อจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศไทย ดำเนินธุรกิจประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งใช้ความรู้ความชำนาญในเทคโนโลยีใหม่จากผู้ร่วมทุน และความแข็งแกร่งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ AEROKLAS มาขยายธุรกิจ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 2565