TOP วางงบ 5 ปี 4.7 พันล้านเหรียญฯ ใช้ลงทุน-คืนหนี้ เล็งออกหุ้นกู้ 2 พันล้านเหรียญฯ

TOP วางงบ 5 ปี 4.7 พันล้านเหรียญฯ ใช้ลงทุน-คืนหนี้ เล็งออกหุ้นกู้ 2 พันล้านเหรียญฯ


นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าใช้เงินสำหรับแผนการลงทุนและการชำระคืนเงินกู้ในช่วง 5 ปี (ปี 63-67) รวม 4,695 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น เงินลงทุน 3,486 ล้านเหรียญสหรัฐ และชำระคืนเงินกู้ 1,209 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ เม็ดเงินดังกล่าวจะมาจากเงินสดและกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานราว 2,634 ล้านเหรียญสหรัฐ และการออกหุ้นกู้ที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันนี้ราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะดำเนินการออกภายในปี 68 จากปัจจุบันที่มีวงเงินหุ้นกู้คงเหลือเพียง 3 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับแผนการใช้เงินส่วนใหญ่จะอยู่ในปี 63 ที่กำหนดวงเงินรวม 1,826 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งใช้สำหรับลงทุน 1,788 ล้านเหรียญสหรัฐ และชำระคืนเงินกู้ 38 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยงบลงทุนส่วนใหญ่จะถูกใช้ในโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน มูลค่าราว 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันมีความคืบหน้าราว 39% และจะพยายามให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 66

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ลดต่ำลงมาอยู่ที่กว่า 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากช่วงต้นปี 63 ที่อยู่ระดับ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้มีผลขาดทุนจากสต็อกราว 10,000 ล้านบาทในไตรมาส 1/63

แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวขึ้นมายืนอยู่ที่ราว 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากด้วยราคาน้ำมันที่ต่ำกว่า 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็จะทำให้ผู้ผลิตน้ำมันไม่สามารถอยู่ได้ ประกอบกับ หลายประเทศทยอยกลับมาเปิดเศรษฐกิจหลังจากหยุดชั่วคราวเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าแนวโน้มราคาน้ำมันหลังจากนี้จะค่อย ๆ ฟื้นตัวทำให้ในไตรมาส 2 ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทพลิกมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน รวมถึงแนวโน้มของกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ก็จะมีทิศทางที่ดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาที่หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานลดลงไป 15-20% โดยเฉพาะในเดือนเม.ย.ที่ความต้องการหายไปเกือบทั้งหมด 90% ทำให้บริษัทปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ตามความเหมาะสมทั้งในส่วนการผลิต ,ต้นทุนการผลิต และการขาย

โดยในส่วนการผลิตได้ปรับลดกำลังการกลั่นเหลือราว 95% จากปกติจะกลั่นน้ำมันเกินระดับ 100% และปรับสัดส่วนการกลั่นน้ำมันอากาศยาน เหลือ 7-10% จากเดิมที่ 20% โดยหันมากลั่นเป็นน้ำมันดีเซล ,เบนซิน และวัตถุดิบผลิตปิโตรเคมี ที่ยังมีความต้องการใช้อยู่  ขณะที่ด้านต้นทุนการผลิต ก็มองหาแหล่งน้ำมันดิบที่มีราคาถูกเข้ามามากขึ้น รวมถึงด้านการขาย จะเน้นการขายในประเทศที่มีราคาสูง และส่งออกไปอินโดจีนที่ยังมีความต้องการใช้ ตลอดจนลดต้นทุนการดำเนินงานลงราว 20-30% จากระดับปกติ เพื่อเพิ่มมาร์จิ้นให้ดีขึ้น โดยโครงการใดที่ไม่เร่งด่วนก็จะชะลอการลงทุนออกไป

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า เมื่อช่วงต้นปีบริษัทมีกระแสเงินสดและเงินสดเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้ทยอยใช้ไปบางส่วนสำหรับโครงการพลังงานสะอาด แต่ก็ยังนับว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแรงมาก และยังมีเงินสดที่เหลือเตรียมไว้จ่ายโครงการพลังงานสะอาดกว่า 4 หมื่นล้านบาท และมีแผนระดมเงินเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นกู้เพิ่มเติม หรือการได้รับสนับสนุนวงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้นในการจ่ายเงินปันผลโดยไม่กระทบกระแสเงินสดของบริษัท

“แม้แต่จะมองไปข้างหน้าเราก็ให้ความสำคัญกับการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อที่จะให้ผู้ถือหุ้นมีรายได้ประจำจากการรับเงินปันผลของเรา เราเชื่อว่าเรามีความมั่นคงทางการเงินเพียงพอที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”นายวิรรัตน์ กล่าว

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการพลังงานสะอาด นอกจากจะช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นอีกกว่า 40% แล้ว ในช่วงเวลาที่โครงการแล้วเสร็จอีก 2-3 ปีข้างหน้าผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก็น่าจะเริ่มเข้าสู่ปกติ ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานกลับเข้ามาในช่วงพอดีกันด้วย

ขณะเดียวกันก็วางแผนจะต่อยอดนำแนฟทาจากโครงการพลังงานสะอาด ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมี ซึ่งมองโอกาสการลงทุนในกลุ่มโอเลฟินส์ ที่บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการ ก้จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจจากปัจจุบันที่มีกำไรราว 60-70% มาจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีความผันผวนมาก โดยในอนาคตมีเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนกำไรมาจากธุรกิจโรงกลั่นเป็น 40%  ,ปิโตรเคมี 40% ,ไฟฟ้า 15% และอื่น ๆ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม 5%

Back to top button