BANPU ผนึกกลุ่ม “สกุลฏีซี-กรมเจ้าท่า-สวทช.” ผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทย
BANPU ผนึกกลุ่ม "สกุลฏีซี-กรมเจ้าท่า-สวทช." ผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทย
บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ในกลุ่มบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ในกลุ่ม บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT กรมเจ้าท่า และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงด้าน “การพัฒนาการออกแบบ การผลิต และมาตรฐาน สำหรับเรือไฟฟ้าที่มีคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำ และส่งเสริมการพาณิชยนาวี” โดยการพัฒนาเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทย ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในปีนี้
ทั้งนี้ นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ความร่วมมือการพัฒนาการผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทยในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานระบบการขนส่งทางน้ำ และการพาณิชยนาวีของประเทศไทยให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นผู้กำกับมาตรฐาน และทิศทางการพัฒนาเรือไฟฟ้าในประเทศ ได้ให้คำแนะนำแก่ภาคเอกชนเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีการประกอบสมัยใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของทางราชการ ร่วมพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีของระบบไฟฟ้า และทบทวนหลักเกณฑ์ข้อกำหนด เงื่อนไข กฎหมาย ในการตรวจเรือไฟฟ้า ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะนำมาใช้
สำหรับวัตถุประสงค์ความร่วมมือกันครั้งนี้ จะเป็นการร่วมยกระดับมาตรฐานการผลิตเรือไฟฟ้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งระดับประเทศ และนานาชาติ นำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้าให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน เล็งเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เรือไฟฟ้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งไม่เพียงช่วยประหยัดพลังงาน แต่ยังช่วยลดมลพิษทางน้ำ และทางอากาศในระยะยาว อีกทั้งมีส่วนช่วยคืนความยั่งยืนให้ระบบนิเวศทางน้ำ ตลอดจนช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน และนักท่องเที่ยว
ด้านนายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ของสวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินงานกิจกรรมด้านยานพาหนะไฟฟ้ามามากกว่า 10 ปี โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่พร้อมระบบส่วนควบ เช่น BMS ระบบระบายความร้อน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) เพื่อรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง ขณะเดียวกัน สวทช. ยังเดินหน้าวิจัย และพัฒนามอเตอร์พร้อมระบบควบคุม โดยมองหาเทคโนโลยีมอเตอร์แบบใหม่ ๆ ที่เหมาะสำหรับการผลิตในประเทศ ระบบ IoT ระบบสมาร์ท รวมถึงการออกแบบ และวิเคราะห์โครงสร้างต่าง ๆ สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าที่ต้องมีน้ำหนักเบา เพื่อลดการใช้พลังงาน และมีความปลอดภัยสูง
ทั้งนี้ สวทช. มีทีมวิจัย และบริการที่มีประสบการณ์ในการพัฒนามาตรฐาน ทดสอบ และการรับรองผลิตภัณฑ์ ทั้งยังมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมมากมาย อาทิ การออกมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับยานพาหนะไฟฟ้า และเทคโนโลยี IoT เช่น มาตรฐานด้านเต้ารับเต้าเสียบ สถานีอัดประจุต่างๆ เป็นต้น ซึ่ง สวทช. จะนำจุดแข็งเหล่านี้มาร่วมส่งเสริมการทำงานภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้าในไทยได้อย่างยั่งยืน
ด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ BANPU กล่าวว่า กลุ่มบ้านปู จะนำนวัตกรรมความรู้ความเชี่ยวชาญมาสนับสนุนการพัฒนาและผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้า (e-Ferry) ลำแรกของประเทศไทย ในด้านงบประมาณการพัฒนาเรือ และนำโซลูชันด้านเทคโนโลยีพลังงานที่หลากหลาย ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มาใช้ในการพัฒนาการผลิต ได้แก่ นำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (LiB) ศักยภาพสูง ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญ ที่บริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่มบ้านปูได้เข้าไปร่วมลงทุน ได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าโดยเฉพาะ และจัดหาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเรือไฟฟ้า
พร้อมกันนี้ยังนำเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ทันสมัยอย่างระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) ใช้ในการควบคุมการกักเก็บ การชาร์จไฟ และการใช้พลังงานให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งระบบนี้สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ และตรวจสอบ เพื่อวางแผนการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) เพื่อให้เรือทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และพร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยเชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยยกระดับการคมนาคมทางน้ำ ร่วมส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน สังคม และนักท่องเที่ยว
ด้าน นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกรรมการ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า สกุลฎ์ซีฯ ศึกษาเรือไฟฟ้าร่วมกับสวทช.มาหลายปี ซึ่งตัวเรือที่ได้พัฒนาสามารถรองรับการติดตั้งระบบไฟฟ้าได้โดยตรง แต่เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในหลายด้านที่เป็นส่วนประกอบอื่น ๆ รวมถึงระบบไฟฟ้าที่ยังตอบตลาดได้ไม่ชัดเจน เช่น การใช้แบตเตอรี่ ความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย การรับประกัน ระบบอัดประจุไฟฟ้า ราคาที่ทางภาคธุรกิจสามารถลงทุนได้ รวมถึงเรื่องข้อกำหนดและกฏระเบียบต่าง ๆ ที่ยังไม่ชัดเจน ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและใช้งานเรือก็ยังขาดองค์ความรู้และความเข้าใจ และไม่มีหน่วยงานใดที่จะให้คำตอบได้อย่างชัดเจน
แต่หลังจากที่ได้มีความร่วมมือกับบริษัทบ้านปู ที่มีนโยบายและทิศทางในการทำงานที่จริงจังในการพัฒนาพลังงานทางเลือก และมีการทำงานอย่างมืออาชีพเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการพลังงาน (EMS) ระบบชาร์จ รวมถึงเรื่องการรับประกัน อีกทั้งยังได้เข้าหารือกับกรมเจ้าท่าเรื่องข้อกำหนดในการผลิตและการจดทะเบียนเรือ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีในการวางแผนปรับปรุงพัฒนาระบบ บุคลากร รูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน รวมถึงเชิญทางสวทช. เข้ามาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าทุกด้าน
“เรือไฟฟ้าที่ร่วมพัฒนากับบริษัทบ้านปู ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปกว่า 90% แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบต่าง ๆ ให้มั่นใจที่สุด เนื่องจากเรือลำที่กำลังผลิตอยู่นี้ไม่ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อแสดงผลงานวิจัยหรือนำไปใช้เอง แต่ผลิตมาเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าที่มีการสั่งซื้อเข้ามาเพื่อนำไปให้บริการในทะเลภาคใต้ จึงต้องผ่านกระบวนการทดสอบมาตรฐานอย่างครบถ้วน ซึ่งเราหวังว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจเรือไฟฟ้าไทย”นายนำชัย กล่าว