BWG ส่งบ.ลูก “เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์” เข้าตลาดฯ ปักหมุดขาย IPO กลางเดือนหน้า

BWG พร้อมส่งบ.ลูก “เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์" เข้าตลาดฯ เตรียมขาย IPO กลางเดือนหน้า


นางสาวปิ่นมณี เมฆมัณฑนา กรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานวาณิชธนกิจ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC เปิดเผยว่า ETC เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในช่วงกลางเดือน ส.ค. นี้ ก่อนที่จะเข้าจดทะเบียนและนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ช่วงปลายเดือน ส.ค. หลังจากได้รับอนุมัติแบบคำขอเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดย ETC มีทุนจดทะเบียน 1,120,000,000 บาท จำนวนหุ้น 2,240,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น คาดว่าจะจำหน่ายหุ้น IPO จำนวน 600,000,000 หุ้น และมีหุ้นกรีนชูอีก 60,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของจำนวนหุ้น IPO เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในสภาวะตลาดหุ้นผันผวนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ บริษัทจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนส่วนหนึ่งให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG จำนวน 95,802,973 หุ้น คิดเป็นสิทธิในการจองซื้อในอัตรา 40 หุ้น BWG ต่อ 1 หุ้นสามัญ ETC

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจของบริษัทฯ และบริษัทย่อย รวมถึงการชำระคืนเงินกู้ และ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ

“เรามีความเชื่อมั่นว่าหุ้น ETC จะได้รับความสนใจอย่างสูง จาก ทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากมีผลประกอบการที่ดี มีอัตรากำไรสูง และมีแนวโน้มการเติบโตสูงจากการเตรียมเปิดประมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง และไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมที่ประมูลตกค้างอีก โดย ETC มีจุดแข็งอย่างมากด้านเชื้อเพลิงขยะ จากบริษัทแม่คือ กลุ่ม BWG เป็นผู้ประกอบการด้านกำจัดขยะอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดของประเทศ อีกทั้ง ETC มีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะที่ดีอีกด้วย” นางสาวปิ่นมณี กล่าว

ด้านนายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ETC เปิดเผยว่า บริษัทประกอบธุรกิจหลักผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบครบวงจร คือ มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรม 3 แห่งคือ ที่จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา และพิจิตร รวมกำลังการผลิต 20.4 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 16.5 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ระยะเวลา 20 ปี

พร้อมกันนั้น ETC ยังมีบริษัทย่อยเป็นผู้รับเหมาสร้างโรงไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จ คือ การออกแบบวิศวกรรมโรงไฟฟ้า การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์โรงไฟฟ้า และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบครบวงจร (EPC) ซึ่งมีเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือและปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

อนึ่ง ETC เป็น บริษัทในกลุ่ม BWG ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับบริหารกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งมีโรงงานผลิตขยะอัดแท่ง (RDF) อยู่ภายในกลุ่ม ทำให้ ETC มีความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง และข้อได้เปรียบต้นทุนเชื้อเพลิง กอรปกับ มีบริษัทฯย่อยเป็นผู้รับเหมาทั้งสร้างและบริหารและดูแล ซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (O&M) จึงประหยัดค่าใช้จ่ายการดูแลโรงไฟฟ้า และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชนและทำให้การขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าในอนาคตเป็นไปได้ง่าย และเป็นโรงไฟฟ้าขยะสะอาดที่ครบวงจร ทั้งห่วงโซ่อุปทาน

โดย ปัจจุบันบริษัทเตรียมจะเข้าร่วมประมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงกว่า 400 เมกะวัตต์ในปลายปีนี้ ซึ่งตามแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติปี 61-80 ที่ยังมีแผนจะรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมที่ประมูลตกค้างอีกกว่า 44 เมะวัตต์ ซึ่งต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 65 จึงคาดว่าจะมีการเปิดประมูลภายในปีนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากการเข้าร่วมประมูล PPA ไม่สำเร็จ บริษัทยังมีแผนการเข้าซื้อกิจการที่มีความเหมาะสมทั้งด้านราคาและผลตอบแทน เพื่อที่จะสนับสนุนการเติบโตของบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการเจรจาเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าบ้างแล้ว หากมีความชัดเจนการเข้าซื้อกิจการจะมีการเปิดเผยอีกครั้ง

สำหรับผลประกอบการของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 62 มีรายได้รวม 362.39 ล้านบาท และมี EBITDA 202.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่รายได้รวม 325.24 ล้านบาท และมี EBITDA 224.40 ล้านบาท ขณะที่ปี 62 มีกำไรสุทธิ 57.55 ล้านบาท จากปี 61 ที่มีกำไรสุทธิ 66.96 ล้านบาท โดยผลประกอบการปี 61-62 มาจากการรับรู้รายได้ค่าไฟฟ้าเต็มปีจากโรงไฟฟ้า ETC เพียงโรงเดียว

ล่าสุดในงวดไตรมาส 1/63 บริษัทมีรายได้รวม 134.90 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 24.18 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิสูง 18% ซึ่งในปี 63 นี้คาดว่าจะรับรู้รายได้การขายไฟฟ้าได้เต็มปีทั้ง 16.5 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าขยะ ETC, RH และ AVA ซึ่ง โรงไฟฟ้า RH และ AVA มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT สูงถึง 6.83 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่สูงสุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น เนื่องจากภาครัฐส่งเสริมการใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดปัญหาด้านปริมาณขยะของประเทศ

Back to top button