รฟม.เปิดชื่อเอกชน 4 ราย ตบเท้าซื้อซองประมูล “รฟฟ.สายสีส้ม” วันแรก
รฟม.เปิดชื่อเอกชน 4 ราย ตบเท้าซื้อซองประมูล “รฟฟ.สายสีส้ม” วันแรก
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ รฟม.เปิดจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทวันแรก มีเอกชน 4 รายเข้าซื้อซองประมูล ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม BTS และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC
“รฟม.เปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาร่วมประมูลกันเยอะๆ อยากให้มีต่างชาติมาด้วย แต่โควิดอาจจะมีผลทำให้มาไม่ได้ แต่เชื่อว่ารอบนี้เขาสู้กันถึงพริกถึงขิง ต่อให้มี 2 ราย” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า โครงการนี้แบ่งเป็นงานโยธา 1.1 แสนล้านบาท สำหรับสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ และอีก 3 หมื่นล้านบาทเป็นระบบเดินรถทั้งเส้นทาง
โดยการประมูลครั้งนี้จะได้ผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยจะเริ่มเดินรถจากสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ -มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีความคืบหน้า 64% เร็วกว่าแผน 3% คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 65 กำหนดเดินรถในปี 66 หากได้ตัวผู้เดินรถจะมีระยะเวลาเตรียมการทั้งตัวรถไฟฟ้าและระบบการเดินรถด้วย
ทั้งนี้ รฟม.จะเปิดจำหน่ายเอกสาร RFP โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจนถึงวันที่ 24 ก.ค.63 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น.และมีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือน ก.ย.63 โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือน ธ.ค.63
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)