MINT ฟ้อง “Marriott” ขึ้นศาลฯไทย เรียกค่าเสียหาย 570 ลบ. ปมขายข้อมูลภายใน-ผิดกม.ร้ายแรง

MINT ฟ้อง "Marriott" ขึ้นศาลฯไทย เรียกค่าเสียหาย 570 ลบ. ปมขายข้อมูลภายใน-ผิดกม.ร้ายแรง


บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เปิดเผยข้อมูล ว่า บริษัท เอ็มไอ สแควร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ MINT ได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อบริษัท แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล,อิงค์ (Marriott) ในการบริหารงานโรงแรมเจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์สปา (JW Marriott Phuket) ซึ่ง MINT เป็นเจ้าของ และบริหารโดยบริษัทย่อยของ Marriott

โดย MINT ได้เรียกร้องค่าเสียหายจาก Marriott  เป็นจำนวนเงิน 570,605,134 บาท ทั้งนี้ MINT ร้องเรียนว่า Marriott ได้กระทำการที่ไม่สุจริต และได้ทำการละเมิดภายใต้กฎหมายไทยอย่างร้ายแรงและบ่อยครั้ง รวมถึงการละเมิดตามกฎหมายดังต่อไปนี้

  1. ทำการแข่งขันอย่างต่อเนื่องและเปิดเผยกับ JW Marriott Phuket ผ่านการดำเนินงานของโรงแรมคู่แข่งอื่นๆ ภายใต้กลุ่มโรงแรม Marriott
  2. ใช้สินทรัพย์ของ JW Marriott Phuket เพื่อโฆษณาโรงแรมอื่นๆ ภายใต้เครือ Marriottซึ่งเป็นคู่แข่งกับ JW Marriott Phuket
  3. นำข้อมูลที่ MINT เป็นเจ้าของและที่เป็นความลับ ไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อส่งเสริมการขายโรงแรมอื่นๆ ของ Marriott ซึ่งเป็นคู่แข่งกับ JW Marriott Phuket และเพื่อผลประโยชน์ของ Marriott ในขณะที่ MINT ได้รับความเสียหาย
  4. บังคับให้ JW Marriott Phuket รับกลุ่มลูกค้าที่มีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำในจำนวนมาก ผ่านโปรแกรมความภักดีของ Marriott และมีการดำเนินโปรแกรมความภักดีโดยไม่สุจริต และขัดต่อผลประโยชน์ของ MINT
  5. ไม่สามารถบริหาร JW Marriott Phuket ในการที่จะปกป้องและเป็นประโยชน์กับเจ้าของโรงแรมได้อย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานด้านการจัดซื้อที่ไม่มีประสิทธิภาพของ Marriott, การลาออกของพนักงานในอัตราที่สูง และการตัดสินใจในด้านการขายและการตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ และ
  6. เพิ่มมูลค่าให้กับตนเองอย่างไม่เหมาะสม จากความเสียหายของโรงแรมและ MINT ด้วยการเก็บค่าลิขสิทธิ์, การรับส่วนลดเงินคืนจากบริษัทคู่ค้าและการใช้เงินในกองทุนโปรแกรมความภักดีของ Marriott อย่างไม่โปร่งใส

ทั้งนี้ Marriott พยายามหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลไทย ถึงแม้ว่าโรงแรม JW Marriott Phuket จะตั้งอยู่ในประเทศไทย มีเจ้าของที่เป็นสัญชาติไทย และมีการร้องเรียนตามกฎหมายไทย โดย Marriott ได้ขอแทรกแซงจากคณะอนุญาโตตุลาการจากต่างประเทศเพื่อที่จะยับยั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลไทย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดผลการตัดสินเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมปี 2563 ที่ผ่านมาส่งผลให้ MINT สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับ Marriott ในศาลไทย และจะเรียกร้องค่าเสียหายและการเยียวยาอย่างเต็มที่ภายใต้กฎหมายไทย อีกทั้ง MINT อยู่ในระหว่างการพิจารณาแผนการที่จะดำเนินคดีทางกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กับบริษัทย่อยของ Marriott ต่อไป

โดย Marriott ยังถูกดำเนินคดีทางกฎหมายที่ยื่นฟ้องโดยอัยการสูงสุดของรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา กรณีการตั้งราคาเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงและทำให้เข้าใจผิด และการละเมิดข้อมูลเป็นครั้งที่สองภายในสามปีที่ผ่านมา (ประกาศในเดือนมกราคมปี 2563 โดยมีผู้ถูกละเมิดเป็นแขกผู้เข้าพักจำนวน 5.2 ล้านคน)

นอกจากนี้ Marriott ยังถูกดำเนินคดีกฎหมายในด้านอื่นๆ จากเจ้าของโรงแรมอีกหลายแห่ง ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของ Marriott และบริษัทในเครือของ Marriott ทั้งนี้ MINT มีความมั่นใจในความสำเร็จในการดำเนินคดีต่อ Marriott ซึ่งทางบริษัทจะแจ้งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบต่อไป

อนึ่ง MINT เป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจระดับสากล โดยประกอบ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ MINT ดำเนินธุรกิจโรงแรมทั้งในรูปแบบเป็นเจ้าของเอง บริหารจัดการ และร่วมลงทุน

โดยมีโรงแรมและเซอร์วิส สวีท ทั้งสิ้น 530 แห่ง ภายใต้แบรนด์ อนันตรา, อวานี, โอ๊คส์, ทิโวลี, เอ็นเอช คอลเลคชั่น, เอ็นเอช โฮเทลส์, นาว, เอเลวาน่า, แมริออท, โฟร์ซีซั่นส์, เซ็นต์ รีจิส, เรดิสัน บลู และโรงแรมในกลุ่มไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ใน 55 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา คาบสมุทรอินเดีย ยุโรป อเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ

นอกจากนี้ MINT เป็นผู้นำในธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยมีร้านอาหารกว่า 2,200 สาขา ใน 26 ประเทศ ภายใต้แบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ริเวอร์ไซด์, เบนิฮานา, ไทย เอ็กซ์เพรส, บอนชอน, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน และเบอร์เกอร์ คิง
อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์และรับจ้างผลิต ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ อเนลโล่, โบเดิ้ม, บอสสินี่, บรูคส์ บราเธอร์ส, ชาร์ล แอนด์ คีธ, เอสปรี, เอแตม, โจเซฟ โจเซฟ, โอวีเอส, แรทลีย์, สโกมาดิ, สวิลลิ่ง เจ. เอ. เฮ็งเคิลส์ และไมเนอร์ สมาร์ท คิดส์

Back to top button