EP พ่อค้าโรงไฟฟ้า
หุ้นบริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO หรือที่ปัจจุบันนักลงทุนรู้จักในชื่อใหม่ บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP นั้น มีรากเหง้ามาจากธุรกิจโรงพิมพ์ครบวงจร ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคหลายสมัย และเป็นไม่กี่โรงพิมพ์ที่ก้าวผ่านวิกฤติมาได้
สำนักข่าวรัชดา
หุ้นบริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO หรือที่ปัจจุบันนักลงทุนรู้จักในชื่อใหม่ บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP นั้น มีรากเหง้ามาจากธุรกิจโรงพิมพ์ครบวงจร ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคหลายสมัย และเป็นไม่กี่โรงพิมพ์ที่ก้าวผ่านวิกฤติมาได้
แต่ธุรกิจโรงพิมพ์เป็นธุรกิจที่ตีบตัน ก็เลยมีการแตกไลน์สร้างมูลค่าเพิ่มให้ EPCO มากขึ้น…
เริ่มจากไปซื้อโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 10 เมกะวัตต์ ที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี จากบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC (หรือบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่รู้จักในปัจจุบัน)
ซึ่งได้รับผลตอบแทนที่ดี เลยขยายไปสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี ปราจีนบุรี และในต่างประเทศที่ญี่ปุ่นและเวียดนาม ทำให้มีจำนวนเมกะวัตต์เพิ่มขึ้น และมีรายได้มากขึ้น…
เลยทำให้โครงสร้างรายได้ของ EPCO เปลี่ยนไป…จากเดิมรายได้หลักมาจากธุรกิจโรงพิมพ์เปลี่ยนเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ลงทุนผ่านบริษัทลูกอย่างบริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP
เดิม EPCO ตั้งใจจะ Spin-Off บริษัทนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ด้วยเหตุผลใดไม่อาจทราบได้…เปลี่ยนแผนใช้วิธีเปลี่ยนชื่อใหม่แทน
แต่น่าคิดการทำธุรกิจโรงไฟฟ้าของ EP น่าสนใจ ช่วงหลัง ๆ มา เริ่มเห็นโมเดลซื้อมาขายไป คือ ซื้อมาแล้วลงทุนพัฒนา จากนั้นก็ขายต่อให้กับนักลงทุนรายอื่น…
เห็นได้จากก่อนหน้านี้ขายโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม จำนวน 2 โรง กำลังการผลิต 99.216 เมกะวัตต์ ที่เวียดนาม ให้บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC มูลค่าประมาณ 1,259 ล้านบาท รับทรัพย์เข้ากระเป๋าไป 520 ล้านบาท…
ล่าสุดก็ขายโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 4 โรง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าที่บ่อพลอย ขนาด 5 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง, โรงไฟฟ้าลพบุรี ขนาด 5 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าปราจีนบุรี ขนาด 5 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ให้กับบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG มูลค่า 871 ล้านบาท
เม้าท์กันว่า ดีลนี้ EP ฟันกำไรไปเหนาะ ๆ อีก 600 กว่าล้านบาท..!!
เท่ากับว่า รวมสองดีลก็ปาไปพันกว่าล้านแล้วนะเนี่ย…
แหม๊…“เฮียยุทธ ชินสุภัคกุล” นี่หัวการค้าจริง ๆ…
ที่จริงการรุกไปลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้า ถูกมองว่าจะสร้าง Recurring Income หรือรายได้ประจำให้กับ EP
แต่สองเคสที่เกิดขึ้น ก็น่าตั้งข้อสังเกตว่า ตกลงนโยบายของ EP จะเป็น Developer ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกอย่างยาวนาน หรือเป็น Investor พัฒนาแล้วขายต่อกันแน่…
เอ๊ะ..!! หรือจะเป็นไฮบริดจ์…เป็นได้ทั้ง Developer และ Investor แล้วแต่จังหวะและโอกาส ถ้ามีใครสนใจจะซื้อ ก็พร้อมที่จะขาย เพื่อเอาเงินไปต่อยอดลงทุนโครงการใหม่ ๆ เป็นเกมเงินต่อเงิน..!!
แต่ถ้าไม่มีใครซื้อ ก็ไม่เสียหายอะไร…ถือเป็นการลงทุนระยะยาวไป
อันนี้ก็พอเข้าใจได้อะนะ…
ที่แน่ ๆ ภาพของ EP ตอนนี้ ไม่ต่างจากพ่อค้าคนกลาง ที่ซื้อมาขายไปแล้วน่ะสิ…เพียงแต่เป็น “พ่อค้าคนกลางพลังงานไฟฟ้า” แทน
หรือจะเถียงคะ “เฮียยุทธ”…
…อิ อิ อิ…