CWT พุ่งแรง 8% นิวไฮรอบ 9 เดือน รับแผนธุรกิจโดดเด่น-เทคนิคขาขึ้นลุ้นทดสอบเป้า 2.64 บ.
CWT พุ่งแรง 8% นิวไฮรอบ 9 เดือน รับแผนธุรกิจโดดเด่น-เทคนิคขาขึ้นลุ้นทดสอบเป้า 2.64 บ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT ณ เวลา 2.52 น. อยู่ที่ระดับ 2.52 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 8.62% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 20.79 ล้านบาท ราคาหุ้นวิ่งแรงในรอบ 9 เดือน โดยเทียบตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ 2.62 บาท เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2562
บล.คิงส์ฟอร์ด ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(1ก.ย.2563) ว่า
CWT : แนะนำซื้อเก็งกำไร Res 2.42-2.64/ Sup 2.28/ Cut 2.24
GLOCON : แนะนำซื้อเก็งกำไร Res 1.04/ Sup0.95/ Cut 0.92
SYMC : แนะนำซื้อเก็งกำไร Res 4.64-5.00/ Sup 4.30/ Cut4.20
โดยก่อนหน้านายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2566) จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีรายได้หลักมาจากบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด (SakunC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานพาหนะสมัยใหม่ และปัจจุบัน CWT ถือหุ้นอยู่ 50.01% ขณะที่ในปี 2566 จะมีรายได้จาก 3 ธุรกิจหลัก โดยคาดจะมีรายได้จาก SakunC ที่ระดับ 5,000 ล้านบาท, มีรายได้จากธุรกิจพลังงาน (โรงไฟฟ้า) ที่ประมาณ 350 ล้านบาทต่อโรง (ปัจจุบันมี 1 โรง ขนาด 15 เมกะวัตต์) และจะมีรายได้จากธุรกิจเบาะหนังสำหรับยานยนต์ (ธุรกิจเดิม) ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทประเมินจะมีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 1,800 ล้านบาท ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่คาดจะเติบโตที่ระดับ 3,000 ล้านบาท และลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,069.52 ล้านบาท ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกมีรายได้รวมแล้ว 704.92 ล้านบาท ลดลงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ภาวะเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวซึ่งรวมถึงความต้องการใช้หนังในตลาดโลกลดลง ลูกค้าจึงชะลอคําสั่งซื้อ ประกอบกับมีรายได้จากธุรกิจออกแบบและจัดจำหน่ายเรือและรถโดยสารขนาดเล็กที่ผลิตด้วยอลูมิเนียมในไตรมาส 2/2563 ลดลง
สำหรับสัดส่วนรายได้ในปี 2563 จะมาจากธุรกิจเดิมและธุรกิจพลังงาน ประมาณ 1,600 ล้านบาท และจะมาจาก SakunC ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก โดยในช่วงไตรมาส 3/2563 จะมีการส่งมอบเรือ EV Ferry ให้ผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ต มูลค่ารวมประมาณ 50 ล้านบาท และจะมีการส่งมอบเรืออื่น ๆ เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ล่าสุด SakunC ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา “EV Aluminum Bus” สัญชาติไทย ตัวถังผลิตจากอลูมิเนียมขึ้นรูปผสมพิเศษ แข็งแรงกว่าเหล็กและอลูมิเนียมทั่วไปถึง 4 เท่า ซึ่งเป็นอลูมิเนียมเกรดเดียวกับที่ใช้สำหรับผลิต Super Car แต่บริษัทนำมาใช้เพื่อผลิตรถบัส EV สำหรับคนไทย มีน้ำหนักเบากว่าเหล็กครึ่งหนึ่ง ทำให้ใช้งานได้นานถึง 30 ปี ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ลดฝุ่นควัน PM2.5 มีค่า CO2 เป็นศูนย์ ด้านแบตเตอรี่, มอเตอร์ และระบบการชาร์จไฟ จะจัดทำไว้ให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กำหนด
โดย “EV Aluminum Bus” ผลิตขึ้นเพื่อเป็นโมเดลนำร่องและเตรียมส่งมอบให้กับ ขสมก. ใช้เป็นต้นแบบของยานพาหนะรุ่นใหม่ที่จะนำมาใช้ปฏิรูประบบขนส่งของทาง ขสมก. ตามแผนฟื้นฟู คาดว่าจะได้รับออเดอร์การผลิตเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งจะถือเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะให้กับระบบขนส่งมวลชนของประเทศได้
“บริษัทมีแผนเข้าประมูลรถรับส่งประจำทางแบบ EV จำนวน 2,511 คัน จากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่กำลังจะออกมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอดูข้อกำหนดผู้ว่าจ้าง (TOR) ซึ่งหากมีความชัดเจนจะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ SakunC คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและความสามารถเพียงพอที่จะผลิตยานพาหนะทันสมัยแบรนด์ไทยและ Represent ประเทศไทยได้” นายวีระพล กล่าว
ส่วนธุรกิจพลังงาน ปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพานิชย์ (COD) แล้ว จำนวน 1 โรง ขนาดกำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ภายใต้บริษัทบริษัท กรีน เพาเวอร์ 1 จำกัด (GP1) ร่วมกับบริษัท แซดดับบลิวเพาเวอร์ (ZW) หลังได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ขนาดกำลังการผลิตรวม 10 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 18 เดือน (ประมาณ 1 ปีครึ่ง) มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะ อีกประมาณ 30 เมกะวัตต์ (จำนวน 3 โรง) มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท
โดยในอนาคตหากบริษัทย่อยมีการเติบโตสูง และมีความต้องการขยายธุรกิจ ก็สามารถระดมทุนด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทันที ซึ่งปัจจุบันธุรกิจ SakunC มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าก็เช่นกัน ด้านธุรกิจเบาะหนังสำหรับยานยนต์ ก็ยังคงเติบโตตามอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างต่อเนื่อง