EPG เน้นแผนลดรายจ่าย หวังรักษา “อัตรากำไรขั้นต้น” 28-30%
EPG เน้นแผนลดรายจ่าย หวังรักษา “อัตรากำไรขั้นต้น” 28-30%
รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลกเปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เมื่อเร็วๆ นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 63 ที่ติดลบ 4.9% เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโรค Covid-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะค่อยเป็นค่อยไป
โดย EPG ผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจต่างๆ มาหลายครั้ง สำหรับครั้งนี้ EPG สามารถรับมือได้ดีพอสมควร การนำนโยบายลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือ นโยบาย “USE” (U: Utilization การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า S: Save การประหยัดค่าใช้จ่าย และ E: Efficiency การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน) มาใช้บริหารงานภายในองค์กร เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 63/64 (เม.ย.63 – มิ.ย.63) โดยคาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้นในไตรมาสต่อๆ ไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งในปีบัญชี 63/64 (เม.ย.63 – มี.ค.64) บริษัทตั้งเป้ายอดขายประมาณ 9,000 ล้านบาท รักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นที่ 28-30% สำหรับการดำเนินงานใน 3 ธุรกิจ มีดังนี้
ด้านธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ AEROFLEX ตั้งเป้าทำการตลาดสำหรับสินค้าพรีเมี่ยมเป็นหลักทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา สำหรับตลาดในสหรัฐอเมริกายอดขายในช่วงนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ยังมีความไม่แน่นอนเนื่องจากยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับตลาดภูมิภาคการส่งออกยังประสบปัญหาเรื่องข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ในบางประเทศ และความต้องการผลิตภัณฑ์ก่อสร้างชะลอตัว ส่วนตลาดในประเทศชะลอตัวตามแนวโน้มการก่อสร้างในประเทศที่ลดลง อย่างไรก็ตามฉนวน AEROFLEX จัดเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในระบบปรับอากาศ อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง อุตสาหกรรมยา และคลีนรูม เป็นต้น จึงทำให้ AEROFLEX สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดได้ดี
ส่วนธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ AEROKLAS มีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนกลุ่มลูกค้า OEM (Original Equipment Manufacturer) เริ่มกลับมาสั่งซื้อสินค้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เช่นเดียวกับบริษัทร่วมทุนในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้ากลุ่ม OEM เช่นกัน สำหรับธุรกิจในออสเตรเลียมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากประชากรท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นและมีความต้องการใช้งานอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวแบบออฟโรด
อย่างไรก็ตาม AEROKLAS มีจุดแข็งด้านช่องทางการจัดจำหน่ายทั้ง OEM/ ODM (Original Design Manufacturer) After Market และการส่งออก จึงสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้เกิด Synergy ของกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของ AEROKLAS
ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP มุ่งเน้นขยายตลาดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทกล่องใส่อาหาร ถ้วยน้ำดื่ม และสินค้าอุตสาหกรรม ด้วย EPP มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่จึงต้องบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งในช่วงนี้ EPP ยังคงได้รับผลบวกจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ EPP ได้พัฒนาสินค้าใหม่หลายประเภท เช่น กล่องใส่อาหารและถ้วยน้ำดื่มรุ่นใหม่/ ถ้วยน้ำดื่มภายใต้แบรนด์ eici ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้วัตถุดิบประเภท Bio plastic และบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษเพื่อสามารถให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร และสินค้านวัตกรรม “หน้ากากอเนกประสงค์ EP-Kare” เป็นต้น
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 63/64 (เม.ย.63 – มิ.ย.63) บริษัทมีรายได้จากการขาย 1,952.2 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.0% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 28.9% และมีกำไรสุทธิ 74.6 ล้านบาท ลดลง 65.3% เป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของโลกต้องหยุดชะงักจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19