“ทริส” เคาะเรตติ้ง NER ที่ “BB+” มองธุรกิจยางแกร่ง-กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงสูง
"ทริส" เคาะเรตติ้ง NER ที่ "BB+" มองธุรกิจยางแกร่ง-กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงสูง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ที่ระดับ “BB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในธุรกิจยางธรรมชาติของประเทศไทยและผลงานที่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านการผลิตและการจำหน่ายยางธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ของบริษัทเพื่อที่จะลดความผันผวนของราคายางธรรมชาติลงบางส่วนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากปัจจัยลบหลายประการ เช่น ความผันผวนของราคายางธรรมชาติ สภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง การแทรกแซงจากรัฐบาล การมีประเภทสินค้าที่ค่อนข้างจำกัด การกระจุกตัวของตลาด และการมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังประเมินถึงระดับภาระหนี้สินของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงซึ่งเกิดจากการลงทุนในการขยายธุรกิจด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ธุรกิจยางธรรมชาติยังคงเผชิญกับความท้าทาย
จากรายงานขององค์กรศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (International Rubber Study Group — IRSG) พบว่าในปี 2562 ผลผลิตยางธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงพร้อมกับความต้องการบริโภคที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงทำให้ราคายางธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ราคายางธรรมชาติโดยเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 11%-15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากอุปสงค์ในธุรกิจยานยนต์อ่อนตัวลงในช่วงที่มีมาตรการปิดเมืองเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางรายซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจยางธรรมชาติในประเทศไทยยังคงสามารถบริหารธุรกิจจนผ่านพ้นและฟื้นตัวกลับมาได้จากช่วงที่อุปสงค์ลดลงอย่างมาก ซึ่งบางส่วนนั้นเป็นผลมาจากการที่ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ในประเทศจีนจำนวนมากกลับมาเปิดโรงงานผลิตเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ สภาวะช็อกของอุปสงค์ยางธรรมชาติในช่วงที่มีมาตรการปิดเมืองนั้นส่งผลทำให้ธุรกิจชะลอตัวและผู้ประกอบการยางธรรมชาติบางรายที่มีปัญหาทางการเงินต้องหยุดดำเนินกิจการ ดังนั้นผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในตลาดได้จะได้รับประโยชน์จากการได้รับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการบางรายออกจากตลาดไป
โดยทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจยางธรรมชาติจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงปี 2564-2565 โดยคาดว่าผลผลิตยางธรรมชาติในประเทศไทยจะลดลงประมาณ 1 ล้านตันในปี 2563 และหลังจากนั้นจะเติบโตในอัตราที่ช้าลงที่ระดับ 2% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งการเติบโตที่ช้าลงนั้นเกิดจากการขาดผลตอบแทนที่จูงใจในการปลูกต้นยางใหม่ รวมไปถึงความล่าช้าในการปลูกต้นยางพารารุ่นใหม่ และการโค่นต้นยางพาราเพื่อใช้พื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลกำไรมากกว่า ทั้งนี้ การบริโภคยางธรรมชาตินั้นคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคายางธรรมชาติยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปตลอดทั้งปีและหลังจากนั้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
เป็นผู้ประกอบการยางธรรมชาติขนาดกลาง
บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของยอดขายผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 1%-2% ซึ่งใกล้เคียงกับผู้ผลิตยางธรรมชาติขนาดกลางรายอื่น ๆ ส่วนใหญ่แต่น้อยกว่าผู้ผลิตที่เป็นผู้นำค่อนข้างมาก โดยผู้ผลิตที่เป็นผู้นำในตลาดมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 10% บริษัทมีรายได้อยู่ในระดับปานกลางที่ประมาณ 1-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2562 โดยมีรายได้รวมอยู่ในอันดับที่ 4-5 ของผู้ประกอบการยางธรรมชาติในประเทศไทย การที่บริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศจีนเป็นหลักจึงทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของตลาด ในปี 2562 บริษัทส่งออกยางธรรมชาติไปยังประเทศจีนคิดเป็นประมาณ 61% ของรายได้ส่งออกรวมของบริษัท และที่เหลือ 39% ส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้ บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับกลุ่มลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางถึงขนาดใหญ่
ผลการดำเนินงานยังคงผันผวน
แม้ว่าธุรกิจแปรรูปยางธรรมชาติจะมีการพึ่งพาแรงงานคนเป็นหลัก แต่ต้นทุนวัตถุดิบกลับมีสัดส่วนถึง 95%-97% ของต้นทุนการผลิตรวม ดังนั้น ผู้ประกอบการแปรรูปยางธรรมชาติจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมักมีกำไรและกระแสเงินสดที่มีความแปรปรวนอยู่เสมอ บริษัทจึงมีความพยายามที่จะลดความเสี่ยงด้านราคารวมทั้งสร้างเสถียรภาพของกำไรและกระแสเงินสดโดยใช้กลยุทธ์การซื้อขายแบบ Back-to-back ซึ่งมีการบริหารจัดการปริมาณขายและปริมาณซื้อให้สอดคล้องเหมาะสมกัน อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งความเสี่ยงในด้านราคาก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในช่วงที่ราคายางพารามีความผันผวนเป็นอย่างมาก
บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิที่ค่อนข้างน้อยและไม่แน่นอนโดยจะผันผวนไปตามราคายางพาราและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา อย่างไรก็ตาม บริษัทก็สามารถลดผลกระทบในด้านลบจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติได้บางส่วนโดยทำการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) บริษัทมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 6.7% ในปี 2562 จากเดิมที่ระดับ 8.1% ในปี 2561 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นและเงินบาทแข็งค่าขึ้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 8% เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 6.5% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากการที่บริษัทมีต้นทุนวัตถุดิบยางธรรมชาติโดยเฉลี่ยที่ลดลง ทริสเรทติ้งเชื่อว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 5% ในระหว่างปี 2563-2565 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าปริมาณการผลิตของบริษัทจะเติบโตยิ่งขึ้นจากการฟื้นตัวของธุรกิจยานยนต์และภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก
ภาระหนี้อยู่ในระดับสูง
ระดับภาระหนี้ของบริษัทถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 58.9% ในปี 2562 และ 60% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากระดับ 56.8% ในปี 2561 ซึ่งเกิดจากการที่บริษัทมีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นพร้อมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงขึ้นอีกด้วย ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลทำให้ภาระหนี้และความเสี่ยงทางด้านการเงินของบริษัทปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 523 ล้านบาทในปี 2563 และ 100-190 ล้านบาทในปี 2564-2565 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนขยายกำลังการผลิตของโรงงานแปรรูปยางแท่ง ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะคงอยู่ในระดับสูงที่ 65% ในช่วงปี 2563-2565
กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าที่จำนวน 68 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 300 ล้านบาทในช่วงระยะเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 168 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่ทั้งสิ้นอีกจำนวน 310 ล้านบาท
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5% ในช่วงปี 2563-2565 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 2 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
รายได้ของบริษัทจะปรับตัวลดลงประมาณ 8% ในปี 2563 และจะเติบโต 3%-5% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565
อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 8% ในปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจยางธรรมชาติได้ต่อไป โดยที่บริษัทจะรักษาสถานะสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่งบดุลให้เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถรักษาเสถียรภาพของกำไรและการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานพอสมควร ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ความสามารถในการทำกำไรหรือผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากที่อาจทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน