“ทรีนีตี้” คาดผลงาน Q4 กลุ่มแบงก์ทรุดต่อ เหตุตั้งสำรองสูง ชู TISCO เด่นสุด เคาะเป้า 89 บ.
"ทรีนีตี้" คาดผลงาน Q4 กลุ่มแบงก์ทรุดต่อ เหตุตั้งสำรองสูง ชู TISCO เด่นสุด เคาะเป้า 89 บ.
นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มผลดำเนินงานของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในงวดไตรมาส 4 ปี 2563 จะอ่อนตัวลงอีกจากไตรมาส 3 ที่ได้ทยอยประกาศกันออกมาเกือบทั้งหมดแล้ว เพราะจะได้รับผลจากค่าใช้จ่ายและการตั้งสำรองหนี้ที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้มีความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 ของภาครัฐ ในส่วนพักชำระเงินต้นระยะเวลา 6 เดือนครบกำหนด ขณะที่ลูกหนี้บางส่วนที่พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งได้พ้นระยะเวลาการพักชำระไปแล้วและได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ต่อก็มีความเสี่ยงในเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไหลย้อนกลับมาได้
ทั้งนี้ จากรายงานผลประกอบการงวด 9 เดือน ธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ที่ทางทรีนีตี้ทำการศึกษา ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO พบว่ามีการตั้งสำรองหนี้ (ECL) งวด 9 เดือน อยู่ที่ 154,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 63% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากแต่ละธนาคาร ได้มีการปรับแบบจำลองการตั้งสำรองหนี้ เพื่อสะท้อนภาพเศรษฐกิจในอนาคตและมีการตั้งสำรองส่วนเกินเพิ่มเติม เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต ส่งผลให้กำไรกลุ่มฯ งวด 9 เดือน อยู่ที่ 79,129 ล้านบาท ลดลง 37% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
“หากดูตัวเลข NPLของ 6 ธนาคาร พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เพราะยังได้รับผลจากการที่ลูกหนี้บางส่วนในปัจจุบันยังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 จึงยังสามารถคุม NPL ได้แต่อนาคตก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงเมื่อมาตรการสิ้นสุดลง”
สำหรับคำแนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร ยังคงให้น้ำหนักเท่ากับตลาด โดยแนะนำหุ้นเด่นในกลุ่ม ได้แก่ TISCO ราคาเป้าหมายที่ 89 บาท ขณะที่ยังแนะนำซื้อสำหรับธนาคารขนาดใหญ่เช่นกัน อาทิ BBL ให้ราคาเป้าหมายที่ 119 บาท, SCB ให้ราคาเป้าหมายที่ 83 บาท และ KBANK ให้ราคาเป้าหมายที่ 95 บาท