KTB ตั้งสำรองพุ่ง-รายได้หด ฉุดกำไรปี 63 ลดฮวบ 43% เหลือ 1.7 หมื่นลบ.

KTB ตั้งสำรองพุ่ง-รายได้หด ฉุดกำไรปี 63 ลดฮวบ 43% เหลือ 1.7 หมื่นลบ.


ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 และงวดปี 2563 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

โดยในไตรมาสที่ 4/2563 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 14,634 ล้านบาทลดลงร้อยละ 2.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากรายได้จากการดำเนินงานที่ลดลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่ลดลง ซึ่งสาเหตุหลักของรายได้ที่ลดลงมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ลดลง

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยโดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ธนาคารได้ขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นด้วยความระมัดระวัง

ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เท่ากับร้อยละ 2.59 ลดลงจากร้อยละ 2.91 ในไตรมาส 4/2562 โดยมีสาเหตุหลักจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงจากรายการพิเศษสำรองด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายฯ ในไตรมาส 4/2562 ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 48.78 ลดลงจากร้อยละ 52.54 ในไตรมาส 4/2562

ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานในปี 2563 เท่ากับ 68,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2562 ท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ย เงินให้สินเชื่อที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษที่เพิ่มขึ้น (“รายได้ดอกเบี้ยพิเศษ” จากเงินให้สินเชื่อจากการได้รับเงินบางส่วนจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนอง) การขยายตัวของสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) ลดลงเป็นร้อยละ 2.91 จากร้อยละ 3.22 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงมากถึงร้อยละ 14.4 แม้ว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยได้ปรับลดลง ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 43.73 ลดลงจากร้อยละ 49.72 ในปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยได้ทยอยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูงจำนวน 44,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.6 จากหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ ในปี 2562

โดยพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูงที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ ทำให้อัตราส่วน Coverage Ratio ณ 31ธันวาคม 2563 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 147.3 จากร้อยละ 131.8 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ควบคู่กับการบริหาร จัดการคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) เท่ากับร้อยละ 3.81 ลดลงจากร้อยละ 4.33 ณ 31 ธันวาคม 2562

อย่างไรก็ตาม จากผลประกอบกำารดังกล่าวและการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 16,732 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 42.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

Back to top button