SCGP กำไรปี 63 แจ่ม! เชื่อปี 64 แจ่มกว่า!!

แม้ต้องเผชิญกับความผันผวน SCGP ยังคงรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลการดำเนินงานสิ้นสุดปี 63 บริษัทมีรายได้จากการขายขยับขึ้นมาอยู่ที่ 92,785.97 ล้านบาท


คุณค่าบริษัท

ปี 2563 เป็นปีแห่งการเติบโตสำหรับ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP โดยบริษัทได้ดำเนินการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 22 ต.ค. 2563 ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากการระบาดของโควิด-19

แม้ต้องเผชิญกับความผันผวน SCGP ยังคงรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัทมีรายได้จากการขายขยับขึ้นมาอยู่ที่ 92,785.97 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 89,069.87 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 6,457.48 ล้านบาท หรือ 1.95 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 5,268.51 ล้านบาท หรือ 1.69 บาทต่อหุ้น

เหตุเป็นเพราะจากการที่บริษัทมีลูกค้าอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัย การซื้อสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ และการสร้างประโยชน์จากการผนึกพลัง (Synergy) จากการควบรวมกิจการในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย

ผลดังกล่าวจึงยังส่งผลให้ผลการดำเนินงานในปี 2563 สามารถทำกำไรได้แจ่ม และเมื่อมีกำไรแจ่มก็ต้องเป็นไปตามมติของบริษัทเกี่ยวกับนโยบายเงินปันผล โดยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและหลังหักสำรองต่าง ๆ ทุกประเภท ตามที่กฎหมายและบริษัทกำหนดไว้ในแต่ละปี

สำหรับการจ่ายปันผล พบว่า ทางคณะกรรมการบริษัทเสนอการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของปี 2563 ในอัตรา 0.45 บาทต่อหุ้น ซึ่งรอการอนุมัติจากการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 เมษายน 2564 ตามรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 8 เมษายน 2564 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพุธที่ 7 เมษายน 2564

เมื่อผลการดำเนินงานปี 2563 ออกมาเติบโตแกร่งแล้ว สิ่งที่น่าสนใจตามมาคือ ทางบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส มองว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานของ SCGP ในปี 2564 เติบโตดีต่อเนื่อง

เนื่องจากการขยายกำลังการผลิตหนุนกำไรปี 2564 บริษัทขยายกำลังการผลิตในอินโดนีเซีย 0.4 ล้านตันต่อปี คาดจะ COD ในไตรมาส 1/2564 และขยายกำลังการผลิตในฟิลิปปินส์ 0.22 ล้านตันต่อปี จะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/2564 และขยายกำลังการผลิตฟิล์มโพลิเมอร์ในไทย 53 ล้านตรม.ต่อปี ใช้เงินลงทุน 600 ล้านบาท คาดจะ COD ในไตรมาส 3/2564

รวมไปถึงธุรกิจไปได้ดีในระยะยาว ซึ่งเป็นผลจากการทำธุรกิจครบวงจร ให้บริการแบบโซลูชัน และอุปสงค์บรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มขยายตัวสูงตามการเติบโตของธุรกิจ E-commerce, การใช้บรรจุภัณฑ์ในตลาดอาเซียนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง และการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ประกอบกับบริษัทเล็งหาโอกาสซื้อกิจการเข้ามาเพิ่มต่อเนื่อง (บริษัทเพิ่งควบรวมกับ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company : SOVI ประเทศเวียดนามแล้วเมื่อ ธ.ค. 2563 ซึ่งทาง SCGP ใช้เงินลงทุนซื้อกิจการ 2.7 พันล้านบาท) ทั้งนี้ SCGP ตั้งงบประมาณลงทุนในปี 2564 ไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนส่วนหนึ่งมาจาก IPO

ทั้งนี้ ประมาณการว่ากำไรหลักปี 2564-2565 จะเติบโตเพิ่มขึ้น 16% และเพิ่มขึ้น 17% ตามลำดับ

สุดท้ายแล้วยังคงแนะนำ “ซื้อ” ปรับเพิ่มราคาพื้นฐานขึ้นเป็น 52.50 บาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 2,926,752,660 หุ้น 68.81%
  2. UBS SECURITIES PTE LTD 83,594,388 หุ้น 1.97%
  3. บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด 71,498,900 หุ้น 1.68%
  4. สำนักงานประกันสังคม 59,850,475 หุ้น 1.41%
  5. MORGAN STANLEY & CO. INTERNATIONAL PLC 53,750,000 หุ้น 1.26%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ, กรรมการอิสระ
  2. นายชลณัฐ ญาณารณพ รองประธานกรรมการ
  3. นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการ
  4. นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการ
  5. นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการ

Back to top button