TU ตั้งเป้ารายได้ 5 ปีโตเฉลี่ย 5% แตะ 1.6 แสนลบ. รุกโปรตีนทางเลือก-กัญชง-อาหารเสริม
TU เป้ารายได้ 5 ปีโตเฉลี่ย 5% แตะ 1.6 แสนลบ. รุกโปรตีนทางเลือก-กัญชง-อาหารเสริม
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU วางเป้าหมายเติบโตต่อเนื่องในช่วง 5 ปี (ปี 64-68) เฉลี่ยปีละ 5% จาก 1.32 แสนล้านบาทในปี 62 จะเพิ่มเป็น 1.6 แสนล้านบาทภายในปี 68
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะเน้นให้ความสำคัญกับกำไรสุทธิมากกว่ารายได้ โดยในปี 64 นี้ตั้งเป้ารักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ 17.5% พร้อมเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจใหม่ ทั้งผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก และธุรกิจส่วนประกอบอาหาร (Ingredients) ที่จะมีมากกว่า 15% ขณะที่สัดส่วนรายได้จะอยู่ที่กว่า 10% ของรายได้รวม
ส่วนงบลงทุนในปีนี้ตั้งไว้ 6-6.5 พันล้านบาท มากกว่าปีก่อนที่ใช้งบลงทุนไปเพียง 3.7 พันล้านบาท โดยแบ่งไปลงทุนในประเทศไทย ที่จะผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสท (Protein hydrolysate ) และคอลลาเจนในประเทศไทย วงเงิน 800 ล้านบาท ธุรกิจอาหารสำเร็จ วงเงิน 1,000 ล้านบาทซึ่งคาดเริ่มผลิตและขายในไตรมาส 2/64 ขณะที่ในต่างประเทศจะลงทุนก่อสร้างห้องเย็นใหม่ในประเทศกานาวงเงิน 11 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ในช่วงปี 65-68 จะมีงบลงทุนปกติปีละ 4.5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะยังไม่มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เพราะคาดว่าเศรษฐกิจโลกยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีก 2 ปี แต่บริษัทมีความพร้อมหากมีโอกาสการลงทุนที่ดี โดยขณะนี้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.94 เท่า
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวว่า บริษัทหันมาเน้นธุรกิจที่ให้อัตรากำไรสูง ได้แก่ ธุรกิจส่วนประกอบอาหาร (Ingredients) และ อาหารเสริม (Supplements)ได้แก่ ทูน่าออยล์ แคลเซียม โปรตีนไฮโดรไลเสท คอลลาเจนเปปไทด์ เป็นต้น โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้ 100 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าจะมีรายได้เพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท รวมทั้งผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 100 ล้านบาท และจะเติบโตเป็น 1,000 ล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้าเช่นกัน หลังจากที่บริษัทได้ลงทุนด้านนวัตกรรม (Innovation) มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว
ทั้งนี้ ธุรกิจใหม่ดังกล่าวมีอัตรากำไรขั้นต้นมากกว่า 20% ขณะที่ธุรกิจทูน่ากระป๋องที่เป็นธุรกิจเดิมมีอัตรากำไรขั้นต้น 18% โดยผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจะกระจายการจำหน่ายไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในไทยบริษัทได้ขายสินค้าให้กลุ่ม บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) , ร้านอาหารเอสแอนด์พี (SNP) พร้อมเน้นในกลุ่มประเทศเอเชีย อีกทั้งได้ส่งออกไปเทสโก้ที่อังกฤษและสหรัฐฯ โดยมีทั้งผลิตภัณฑ์จากพืชทดแทนอาหารทะเล เนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่
นอกจากนี้ TU ได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งด้านช่องทางจำหน่าย ได้แก่ การร่วมมือกับ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา (IP) ร่วมทุนผลิตและจำหน่ายอาหารเสริมที่ IP มีความเข้มแข็งด้านช่องทางขายผ่านโรงพยาบาล คาดว่าจะเริ่มผลิตในไตรมาส 2/64, การร่วมทุนกับกลุ่มไทยเบฟ ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งไทยเบฟมีความเข้มแข็งช่องทางการขายเช่นกัน คาดจะเริ่มในช่วงครึ่งหลังปี 64
“ต่อๆ ไปเราก็จะลงทุน JV กับพันธมิตร ทั้งธุรกิจ Ingredients, Supplements, Alternative Protein, Medical Food ถ้าพบผู้ที่มีความเข้มแข็งจะร่วมมือกัน เราไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว อย่าง Medical Food กำลังคุยร่วมมือกัน ซึ่งเราต้องการเห็นภาครัฐควรขับเคลื่อน Medical Food เพื่อให้เรามีความสามารถแข่งขันระดบโลกได้ ซึ่งปัจจุบันเรายังนำเข้า Medical Food” นายธีรพงศ์ กล่าว
สำหรับธุรกิจกัญชง ขณะนี้บริษัทศึกษาที่จะนำเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น อาหารเสริม อาหารกระป๋อง โดยได้มีการทดลองนำไปทำเป็นทูน่ากระป๋องในน้ำมันกัญชงที่มีโอเมก้า 3 และโปรตีนจากกัญชง ขณะนี้รอกฎหมายมีผลบังคับใช้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และประเมินความต้องการของผู้บริโภคด้วย
นายธีรพงศ์ กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 1/64 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าที่ยังอยู่ในภาวะการระบาดโควิด-19 และทำงานที่บ้าน ขณะที่ราคาทูน่าปรับตัวลงกว่าระดับปกติที่ 1,300-1,350 เหรียญสหรัฐ/ตัน ที่คาดจะได้รับผลดีจากที่จับปลาได้ดีขึ้น จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ และคาดว่าจะทำให้อัตรากำไรขึ้นต้นเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนเฉลี่ย 17.5% ปัจจุบันมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 80%