“ทริสฯ” คงเรตติ้งหุ้นกู้ PTTEP ที่ “AAA” สะท้อนผู้นำธุรกิจสำรวจ-ผลิตปิโตรฯของไทย

“ทริสฯ” คงเรตติ้งหุ้นกู้ PTTEP ที่ "AAA" สะท้อนผู้นำธุรกิจสำรวจ-ผลิตปิโตรฯของไทย


บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ที่ระดับ “AAA” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทที่ระดับ “AA”

ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของ ปตท.สผ. อยู่ 2 ขั้นนั้น สะท้อนถึงลักษณะการด้อยสิทธิและความเสี่ยงที่ผู้ถือตราสารอาจถูกเลื่อนการชำระดอกเบี้ยตราสารดังกล่าวออกไปได้

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคงแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. ยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยของบริษัท ตลอดจนความเสี่ยงด้านการตลาดที่ต่ำเนื่องจากบริษัทมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT รวมถึงต้นทุนในการผลิตที่ต่ำจากแหล่งปิโตรเลียมเดิมของบริษัท นโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท

สำหรับประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต ได้แก่

– เป็นผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยบริษัทจัดหาปิโตรเลียมโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทย ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วที่ระดับ 1,074 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยประมาณ 50% ของปริมาณสำรองปิโตรเลียมนั้นอยู่ในประเทศไทย

ส่วนที่เหลืออีก 50% กระจายอยู่ใน 15 ประเทศ ประมาณ 70% ของปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทเป็นก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate) ในปี 2563 บริษัทมียอดขายปิโตรเลียมอยู่ที่ 354,052 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันโดยประมาณ 70% เป็นการจำหน่ายภายในประเทศ

โดยปตท.สผ. มีสัญญาจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่ ปตท. ในรูปแบบ Take-or-Pay โดยผู้ซื้อจะรับผิดชอบซื้อปริมาณก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำต่อปีตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือชำระเงินในจำนวนที่เทียบเท่า ซึ่งยอดขายในแต่ละปีของ ปตท.สผ. นั้นประมาณ 70% มีลักษณะของสัญญาดังกล่าว

– มีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับ ปตท. โดย ปตท.สผ. เป็นบริษัทย่อยหลักของ ปตท. ซึ่ง ปตท. มีสถานะเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติและเป็นผู้จำหน่ายก๊าซธรรมชาติรายเดียวในประเทศไทย ปตท. ถือหุ้นใน ปตท.สผ. ในสัดส่วน 65.3% โดยทั้ง ปตท. และ ปตท.สผ. มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กฎหมายไทย

ในด้านความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์นั้น ปตท. เป็นลูกค้าหลักของ ปตท.สผ. ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 70%-80% ของยอดขายของบริษัท นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานก๊าซธรรมชาติของ ปตท. อีกด้วย โดยบริษัทจะจัดส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ก่อนที่จะจำหน่ายไปยังโรงงานปิโตรเคมีและกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในช่วงปี 2561-2563 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของ ปตท. ประมาณ 40%-50% มาจาก ปตท.สผ.

– ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนสูงช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง ผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับการปกป้องจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นอย่างมากในปี 2563 เนื่องจากร้อยละ 70 ของยอดขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของบริษัทเป็นก๊าซธรรมชาติ ในปี 2563 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลง 18.8% เหลือ 3.8 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลงถึง 33.4% ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับราคาก๊าซธรรมชาติที่ล่าช้ากว่าราคาน้ำมันภายใต้สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่มีกับ ปตท. ทั้งนี้ สูตรการปรับราคาในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่มีกับ ปตท. นั้น จะจำกัดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน โดยราคาก๊าซธรรมชาติจะอ้างอิงกับราคาน้ำมันเตาที่ประมาณ 30% และสูตรการคำนวณราคายังได้รวมการปรับปรุงค่าความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเอาไว้ด้วย ซึ่งสูตรการคำนวณดังกล่าวจะใช้เวลาในการปรับราคาช้ากว่าราคาน้ำมันประมาณ 6 เดือนถึง 2 ปี

– การซื้อสัดส่วนการลงทุนใน “Oman Block 61” สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ ทริสเรทติ้งมองว่าการซื้อสัดส่วนการลงทุน 20% ในโครงการ Oman Block 61 ในรัฐสุลต่านโอมาน (ประเทศโอมาน) นั้นช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้แก่บริษัท โครงการ Oman Block 61 ประกอบด้วยแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่ง คือ “Khazzan” และ “Ghazeer” โดยทั้ง 2 แหล่งนี้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้จำนวน 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและก๊าซธรรมชาติเหลวที่จำนวน 65,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 35% ของกำลังการผลิตในประเทศโอมาน นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วและที่คาดว่าจะพบ (2P) ที่ประมาณ 10.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตอีกด้วย

โครงการ Oman Block 61 มีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวแบบ Take-or-Pay กับรัฐบาลโอมานในปริมาณรวม 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยราคาจำหน่ายก๊าซธรรมชาตินี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันเนื่องจากมีการกำหนดเป็นราคาคงที่ที่ปรับด้วยดัชนีตามที่ระบุในสัญญาในแต่ละปี เนื่องจากโครงการ Oman Block 61 เริ่มดำเนินงานแล้ว ทริสเรทติ้งจึงคาดการณ์ว่าการซื้อสัดส่วนการลงทุนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มยอดขายของบริษัทได้ประมาณ 10% และจะช่วยเพิ่มกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้แก่บริษัทประมาณ 350-450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีหลังจากการรับรู้รายได้เต็มปีตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

การซื้อสัดส่วนการลงทุนในครั้งนี้มีมูลค่า 2.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจจะมีการรับรู้มูลค่าการซื้อเพิ่มเติมในจำนวนไม่เกิน 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบริษัทมีแผนจะใช้เงินสดที่มีอยู่ในการลงทุนครั้งนี้ หลังจากธุรกรรมแล้วเสร็จ บริษัทจะมีสัดส่วนลงทุนที่ระดับ 20% ใน Oman Block 61 ในขณะที่ผู้ร่วมทุนรายอื่นในโครงการประกอบด้วย BP PLC (40% และเป็นผู้ดำเนินงาน) Makarim Gas Development LLC (OQ, 30%) และ PC Oman Ventures Limited (PETRONAS, 10%) ซึ่งคาดว่าการซื้อสัดส่วนการลงทุนนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2564 ขึ้นกับการได้รับอนุมัติจากรัฐบาลโอมานและกลุ่มผู้ร่วมทุนในโครงการ

– ปริมาณขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งคาดว่าการซื้อสินทรัพย์และการดำเนินงานของโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของ ปตท.สผ. จะช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่บริษัทในระยะ 5 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมียอดขายเติบโตเฉลี่ยปีละ 6%-7% จนถึงระดับ 480-490 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2568 จากระดับ 350 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2563 ทั้งนี้ ยอดขายที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากยอดขายเต็มปีของโครงการ Oman Block 61 รวมถึงการเริ่มดำเนินงานของโครงการ “Sabah H” และ “Algerial HBR” ในปี 2564 โครงการ “เอราวัณ” และ “บงกช” ในช่วงปี 2565-2566 และโครงการ “Mozambique Offshore Area 1” ในปี 2567

– ต้นทุนการผลิตที่ต่ำช่วยรักษาอัตรากำไร บริษัทสามารถรักษาอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้อยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 70% ได้แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะลดลงอย่างมากปี 2563 ต้นทุนที่เป็นเงินสดทั้งหมดของบริษัทลดลง 9.3% เหลือ 14.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าภาคหลวง ค่าใช้จ่ายในการบริหาร และค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียมที่ลดลง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตปิโตรเลียมต่อบาร์เรล (Lifting Cost) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 3.7% เป็นประมาณ 4.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ

– สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง แม้ว่า ปตท.สผ. จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างมากในปี 2563 แต่สถานะทางการเงินของบริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลง 18% เหลือ 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายยังคงอยู่ในระดับต่ำมากที่ประมาณ 1.0 เท่าในปี 2563 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 3.4-3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4.0-4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในระหว่างปี 2565-2567

ทั้งนี้ การประมาณการกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทที่ต่ำลงในปี 2564 นั้นเป็นผลจากการปรับราคาจำหน่ายก๊าซธรรมชาติซึ่งส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายปิโตรเลียมเฉลี่ยของบริษัทลดลง ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในปี 2565-2567 จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น

บริษัทมีแผนจะใช้เงินสดในการซื้อสัดส่วนการลงทุนจำนวน 20% ใน Oman Block 61 ที่มูลค่าประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 1.8-2.0 เท่าในปี 2564 และจะลดลงเหลือประมาณ 1.6-1.8 เท่าในช่วงปี 2565-2567

แม้ว่าสัญญาแบ่งปันผลผลิตของโครงการบงกชและโครงการเอราวัณที่เริ่มตั้งแต่ในปี 2565 เป็นต้นไปจะทำให้ราคาจำหน่ายเฉลี่ยของบริษัทลดลง แต่บริษัทก็มีแผนการลดต้นทุนการดำเนินงานของทั้ง 2 โครงการ ด้วยการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เพื่อรักษาอัตรากำไร ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรให้สูงเกินกว่า 65% เอาไว้ได้ตลอดช่วงประมาณการ

– สภาพคล่องที่เพียงพอ บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแรง โดย ณ สิ้นปี 2563 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 855 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจำนวน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นเป็นวงเงินกู้ที่ธนาคารมีภาระผูกพันในการจัดหาให้ตามกำหนดเวลา (Committed Credit Line) ทริสเรทติ้งประมาณการว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมทั้งเงินทุนจากการดำเนินงานจึงคาดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช่จ่ายลงทุนของบริษัทสำหรับปี 2564 ที่ประมาณ 5.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการซื้อสัดส่วนการลงทุนในโครงการ Oman Block 61 ด้วย สำหรับปี 2564 นั้นบริษัทไม่มีเงินกู้ยืมที่ครบกำหนดชำระคืนแต่อย่างใด

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

– ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ประมาณ 45 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564 และเพิ่มเป็น 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565-2566 และ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2567

– ต้นทุนที่เป็นเงินสดทั้งหมดของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 12.5-14.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตลอดระยะเวลาประมาณการในปี 2564-2567

– ในช่วงปี 2564-2567 บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 14.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการซื้อเงินลงทุนใน Oman Block 61 มูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า ปตท.สผ. จะยังคงดำรงผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่ท้าทาย โดยสภาพคล่องที่เพียงพอและความสามารถในการปรับแผนค่าใช้จ่ายลงทุนจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไปได้

โดยปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง ปัจจัยในเชิงลบที่จะมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นหากราคาน้ำมันดิบคงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือหากบริษัทมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการกู้ยืมเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสถานะทางเครดิตของ ปตท. หรือการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท. และ ปตท.สผ. ก็อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

Back to top button