BRR พุ่งซิลลิ่ง! รับแผนธุรกิจเด่น พ่วงราคาน้ำตาลโลกนิวไฮรอบ 4 ปี
BRR พุ่งซิลลิ่ง! รับแผนธุรกิจเด่น พ่วงราคาน้ำตาลโลกนิวไฮรอบ 4 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR วันนี้ (24 มี.ค. 2564) ณ เวลา 15.53 น. ราคาหุ้นพุ่งแรงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.90 บาท บวกไป 1.36 บาท หรือขึ้นไป 29.96% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 29.96 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้นทำนิวไฮในรอบ 1 ปี 7 เดือน โดยเทียบตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ 5.95 บาท เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2562
โดยราคาหุ้นตอบรับจากกรณีที่ก่อนหน้า นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า มีการตั้งเป้าหมายปี 2564 ว่าจะมีรายได้รวมเติบโต 18% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 4,047.98 ล้านบาท รวมถึงกำไรสุทธิกลับมาฟื้นตัวโดดเด่นมากขึ้น จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 6.14 ล้านบาท หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ธุรกิจหลัก อย่าง ธุรกิจน้ำตาล ธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจปุ๋ย ธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย และธุรกิจโลจิสติกส์ กลับมาดำเนินการได้เต็มที่อีกครั้ง
สำหรับธุรกิจน้ำตาลในฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 คาดปริมาณอ้อยเข้าหีบ 1.75 ล้านตันอ้อย ค่อนข้างทรงตัว จากในช่วง 2-3 ปีก่อน ขณะที่ฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 2.4 ล้านตันอ้อย และฤดูกาลผลิตปี 2565/2566 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 2.6 ล้านตันอ้อย
ประกอบกับได้ผลบวกจากราคาขายน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 18-19 เซนต์ต่อปอนด์ คาดเฉลี่ยอยู่ในระดับนี้ตลอดปี จากปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 14 เซนต์ต่อปอนด์ หลังได้แรงหนุนจากความต้องการบริโภคมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และซัพพลายลดลง ทั้งจากการนำไปผลิตเอทานอลของบราซิล และปรากฏการณ์เอลนีโญ
ขณะเดียวกัน บริษัทได้เริ่มสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจโดยนำน้ำตาลทรายดิบไปผลิตเป็นน้ำตาลรีไฟน์ เพื่อหวังสร้างรายได้สูงสุดจากธุรกิจน้ำตาลในช่วงขาขึ้น และยังมีกำไรต่อหน่วยที่ดีกว่าด้วย รวมถึงจะเห็นการฟื้นตัวของรายได้ และกำไรอย่างโดดเด่นในช่วงไตรมาส 3/2564 เป็นไปตามสัญญาคำสั่งซื้อล่วงหน้า (Order) ของลูกค้าจำนวนมาก จากในไตรมาส 1/2564 ที่มียอดขายน้ำตาลเพียง 10,000 ตัน จากปกติ 30,000-40,000 ตัน
ทางด้านธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัทมั่นใจว่าในปี 2564 จะมีปริมาณการขายไฟฟ้าได้มากว่า 300 วัน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ไม่สามารถเตรียมพร้อมรับมือการขาดแคลนวัตถุดิบจากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบน้อยลง โดยปัจจุบันได้จำหน่ายไฟฟ้ารวม 16 เมกะวัตต์ (MW) ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ดำเนินการภายใต้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้า 1 สิ้นสุดสัญญา วันที่ 10 ส.ค. 2571 และโรงไฟฟ้า 2 สิ้นสุดสัญญา วันที่ 6 เม.ย. 2578
ทั้งนี้บริษัทให้ความสนใจนำบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์พลัส จำกัด (BPP) ขนาดกำลังการผลิตทั้งสิ้น 9.9 เมกะวัตต์ เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามนโยบายภาครัฐ หรือโครงการ Quick Win, คาดว่าจะเปิดประมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ในช่วงกลางปี 2564 นี้ เบื้องต้นมีการปรับลดกฎเกณฑ์ซื้อขายไฟฟ้าเหลือ 6 เมกะวัตต์ พร้อมวางงบรองรับไว้ 18.71 ล้านบาท หากเป็นไปตามแผนจะช่วยหนุนรายได้กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าให้เติบโตถึง 40%
ส่วนธุรกิจปุ๋ย เชื่อว่าในปี 2564 จะขยายตัวตามการขยายพื้นที่เพราะปลูกอ้อยมากขึ้น และมุ่งสร้างตลาดรองรับอย่างมั่นคงในอนาคต และธุรกิจโลจิสติกส์ ที่บริษัทคาดหวังต่อยอดสร้างรายได้เสริมพอร์ตเพิ่มเติมทั้งภายใน และภายนอก
รวมทั้งธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ที่ดำเนินการภายใต้บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด จากการนำชานอ้อยไปทำบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยภายในปี 2566 วางแผนขยายเครื่องจักรผลิต เพิ่มอีก 14 เครื่อง ด้วยงบลงทุน 200 ล้านบาท เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยให้ลดต้นทุนได้มากถึง 50% และสามารถสร้างรายได้ถึง 700 ล้านบาทต่อปี
“ในระยะ 3 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2566) สัดส่วนรายได้ของธุรกิจน้ำตาลจะปรับตัวลดลงจากปัจจุบัน 70% จากการที่ธุรกิจใหม่เติบโตและดำเนินธุรกิจได้เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ที่บริษัทต้องการสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่วนกัญชา-กัญชง ก็ได้ศึกษามานานมีความสนใจเหมือนกันตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ-ปลายน้ำ”