BAM ส่งซิกไตรมาส 2 สดใส เน้นบริหารต้นทุน – ขยายฐานสู่รายย่อย
BAM ประเมินผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 2 ว่าจะเติบโตจากไตรมาส 1 ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นในการบริหารต้นทุน และขยายฐานสู่นักลงทุนรายย่อยที่มีศักยภาพเข้ามาเพิ่มเติม
นายรฐนนท์ ฟูเกียรติ ผู้จัดการกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 2/64 จะดีขึ้นจากไตรมาส 1/64 ตามการเรียกเก็บที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ลูกหนี้รายใหญ่ได้แจ้งชำระหนี้เพิ่มเติม รวมไปถึงการขยายช่องทางการจัดการประมูลทรัพย์ผ่านช่องทางออนไลน์ และการขยายฐานลูกค้าไปยังนักลงทุนรายย่อยที่มีศักยภาพเข้ามาเพิ่มเติมด้วย พร้อมทั้งเน้นการบริหารจัดการต้นทุนที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเร่งแผนการชำระคืนเงินกู้เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย
ทั้งนี้ บริษัทคงเป้าหมายการเรียกเก็บเงินจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และสินทรัพย์รอการขาย (NPA) ในปีนี้ที่ 17,453 ล้านบาท คาดว่าแนวโน้มการเรียกเก็บที่ปรับตัวดีขึ้นช่วงที่เหลือของปีนี้ และฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย และมีการกระจายการฉีดวัคซีนที่มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามความต้องการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไรต่อไปหลังจากมีโครงการพักชำระหนี้ และผลกระทบจากมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) โดยขณะนี้บริษัทยังคงเป้าหมายการซื้อหนี้เข้ามาบริหาร 9,000 ล้านบาท แม้ช่วงไตรมาส 1/64 จะซื้อหนี้เข้ามาได้เพียง 561 ล้านบาท เนื่องจากสถาบันทางการเงินยังคงชะลอการขายหนี้เพื่อรอติดตามสถานการณ์ในประเทศก่อน และในช่วงที่ผ่านมาได้มีมาตรการจากภาครัฐออกมาช่วยเหลือค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามเชื่อจะนำออกมาขายมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
“การซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มเติมจะทำด้วยความระมัดระวัง ซึ่งบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับราคาที่เหมาะสม คุณภาพหนี้ที่ดี เพื่อที่จะสามารถบริหารการจัดเก็บหนี้เข้ามาแล้วมีกำไร เราไม่ได้มีความกังวลหากไม่สามารถซื้อหนี้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะเราเน้นการเลือกหนี้ด้วยความระมัดระวัง เป็นหนี้ที่มีคุณภาพ และสามารถสร้างผลกำไรได้ในอนาคต ขณะที่ปัจจุบันเรามีพอร์ตหนี้ที่ซื้อเข้ามาบริหารต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมารวมราว 200,000 ล้านบาท ซึ่งยังรองรับการเติบโตของผลประกอบการได้” นายรฐนนท์ กล่าว
นายรฐนนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการจัดตั้งโฮลดิ้งส์ว่าปัจจุบันได้รับข้อมูลจากที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) แล้ว โดยคณะกรรมการบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียก่อนที่จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการพิจารณาเพื่อขออนุมัติต่อไป