สูตรเด็ดเหล็กไหล! กลเม็ดเลี่ยงภาษีธุรกิจท่อเหล็ก

สูตรเด็ดเหล็กไหล! กลเม็ดเลี่ยงภาษีธุรกิจท่อเหล็ก


เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาวงการอุตสาหกรรมเหล็กตกเป็นข่าวอื้อฉาวและถูกเพ่งเล็งอีกครั้ง หลังกรมศุลกากรเข้าทำการจับกุมสินค้าประเภทท่อเหล็ก ปริมาณ 16,443 ชิ้น น้ำหนักรวม 481,490 กิโลกรัม ซึ่งผู้ส่งออกได้ถูกกล่าวหาว่า กระทำการทุจริตฉ้อฉลในการขอคืนเงินอากร ตามมาตรา 19 ทวิ

เบื้องต้น คาดว่า กลวิธีที่ใช้ คือ การวนสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศที่ติดเงื่อนไขทางภาษี แต่มีข้อยกเว้น คือ ไม่ต้องเสียภาษีหากว่าเป็นการนำเข้ามาแปรรูปเพื่อส่งออกไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจริง คือ มีการส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวต่อจากนั้นจริง แต่ผู้สั่งซื้อจากต่างประเทศ (อยู่ในประเทศที่ไม่ติดเงื่อนไขทางภาษี) มักจะเป็นบริษัทนอมินีที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจำหน่ายสินค้ากลับมายังบริษัทต้นทางในประเทศไทยเป็นประจำ

เท่านี้เอง! บริษัทที่ใช้กลวิธีนี้ก็สามารถหลบเลี่ยงภาษีได้โดยไม่ยาก แถมยังได้ซัพพลายในราคาที่ถูกกว่าที่อื่นอีกต่างหาก

สำหรับบริษัทที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมในครั้งนี้ เป็นบริษัทในตลาดหุ้นไทยที่ดำเนินธุรกิจค้าขายท่อเหล็ก นั่นก็คือ บริษัท สามชัย สตีล อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ SAM นั่นเอง!

แน่นอน กระบวนการอื้อฉาวและกลโกงดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยจากคนในวงการอุตาหากรรมเหล็ก ซึ่งอธิบายได้อย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้

“สำหรับผู้ผลิตท่อเหล็กดำมีรูปแบบการเลี่ยงภาษีนำเข้า เช่น นำเข้าเหล็กม้วนดำจากประเทศจีน หลบภาษีแอนตี้ ดัมปิ้ง(AD) 45% และภาษีเหล็กปกติ 5% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อ้างว่านำเหล็กเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกและไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมา ซึ่งไม่มีการส่งออกจริงหรือส่งออกเพียงเล็กน้อย แล้ววนกลับมาขายต่อไปในประเทศไม่ต้องภาษี 57%

ขณะที่มาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐเข้มงวดมากว่า 500% ขณะที่ไทย 57% ทำให้เหล็กเลี่ยงภาษีจากจีนหันไปเปลี่ยนแหล่งกำเนิดหรือเปลี่ยนเอกสารนำเข้าอ้อมไปที่ประเทศอื่นแทน เพื่อเลี่ยงภาษี แล้วนำเข้ามาในไทย เห็นได้จากประเทศเหล่านี้ เช่น อียิปต์ อีหร่าน ตุรกี หรือ บราซิล ปกติ 3-4 ประเทศนี้ หลายปีที่ผ่านมาไม่เคยส่งออกเหล็กมาไทย จู่ๆปี 58 โผล่ส่งออกเหล็กเข้าไทย 2.5 แสนตัน จากเดิมปี 55-56 เพียง 2000 ตันเศษ และปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนตัน นอกจากนี้ยังมีเหล็กรีดร้อนจากเวียดนามเข้ามาในไทยเดือนละ 3 หมื่นตัน ซึ่งปกติแล้วเวียดนามยังไม่ได้ผลิตเหล็กรีดร้อน จึงคาดว่าเป็นเหล่งเลี่ยงกำเนิดเหล็ก เพื่อเลี่ยงภาษีเช่นเดียวกัน”

ด้าน SAM ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวได้ออกมาชี้แจง กรณีกรมศุลกากรจับกุมขบวนการฉ้อฉลในการขอคืนเงินอากร สินค้าประเภทท่อเหล็ก ตามมาตรา 19 ทวิ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 120 ล้านบาท และมีการพาดพิงถึงบริษัทว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนั้น

ในส่วนของบริษัท มีการส่งออกท่อเหล็กไปยังประเทศลาว ให้แก่บริษัท ยูนิเวอร์แซล เทรด จำกัด จริง! ตามที่กรมศุลกากรแถลง แต่รถที่ใช้ในการขนส่งสินค้านั้นไม่ใช่รถของบริษัท ซึ่งทางผู้ซื้อเป็นคนจัดการ

โดยบริษัทเห็นว่าบริษัทไม่มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะชำระเงินตามที่ทางกรมศุลกากรแจ้งไว้ว่าเป็นมูลค่าสินค้าจำนวน 70 ล้านบาท และมูลค่าภาษีอากรจำนวน 49 ล้านบาท และปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งจากกรมศุลกากรแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามบริษัทอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารเพื่อเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรมศุลกากร และหากมีความคืบหน้าจะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป

ทั้งนี้ หากเรื่องที่ SAM ถูกกล่าวหาเป็นความจริง ก็เท่ากับว่า SAM เลือกที่จะนำเข้าท่อเหล็กดำมาจากประเทศจีน เนื่องจากมีราคาถูกกว่า และแจ้งต่อกรมศุลกากรว่า นำเข้าเหล็กเหล่านั้นมาเพื่อขายต่อให้ประเทศอื่น เพื่อที่จะไม่ต้องไปจ่ายภาษีแอนตี้ ดัมปิ้ง ภาษีเหล็กปกติ และภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ข้อเท็จจริง คือ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของ SAM ไม่ได้อยู่ในต่างประเทศ แต่อยู่ในประเทศไทยนี่เอง!

เพราะฉะนั้น จึงมีการขนถ่ายท่อเหล็กเหล่านั้นออกไปยังบริษัทนอมินีใน สปป.ลาว ผ่านทางด่านศุลกากร จ.มุกดาหาร เพื่อเคลียร์เรื่องภาษีในขั้นตอนแรกให้เสร็จสิ้น แล้วจากนั้นจึงทำเรื่องนำเข้าท่อเหล็กรายการเดียวกันนี้ เข้ามาจาก สปป.ลาวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อมาขายต่อในประเทศไทย โดยไฮไลท์ของเรื่องอยู่ตรงที่ การนำเข้าท่อเหล็กมาจาก สปป.ลาว ไม่ต้องเสียภาษี (ข้อตกลงเออีซี)

สบายใจเฉิบ! แค่นี้ ก็สามารถแปลงสัญชาติท่อเหล็ก จากอาตี๋มาเป็นผู้บ่าว ได้อย่างง่ายดาย 

ส่วนราคาหุ้น SAM ปิดตลาดภาคเช้าอยู่ที่ที่ระดับ 1.14 บาท ลบ 0.01 บาท หรือ 0.87% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 3.83 ล้านบาท

 

 

ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Back to top button