ADVANC รายได้ปีนี้โตเดินหน้าปันผล 100%
ด้วยงบการเงินที่แข็งแกร่งทำให้ ADVANC สามารถที่จะลงทุนเพื่อที่จะขยายธุรกิจได้ โดยไม่กระทบกับนโยบายการจ่ายเงินปันผล 100% ของกำไรสุทธิ
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC หรือที่รู้จักันในชื่อ “AIS” เป็นบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ตามกำไรสุทธิที่มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยหากย้อนกลับไป 3 ปี จะเห็นได้ว่าในปี 2555 มีกำไรสุทธิ 34,883.23 ล้านบาท จ่ายปันผลในอัตรา 10.90 บาท/หุ้น และในปี 2556 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 36,274.13 ล้านบาท ทำให้สามารถจ่ายปันผลได้มากขึ้น โดยจ่ายปันผลในอัตรา 12.15 บาท/หุ้น ส่วนในปี 2557 ที่ผ่านมา กำไรสุทธิลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 36,033.17 ล้านบาท ทำให้จ่ายปันผลลดลงเหลือ 12 บาท/หุ้น
“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC เปิดเผยว่า เอไอเอสมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และมีหนี้ในระดับต่ำ ทำให้มีความพร้อมในการลงทุนและยังมีความสามารถในการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยในปี 2557 หากดูกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิอยู่ที่ 62,820 ล้านบาท ขณะที่ได้ใช้งบลงทุนไปทั้งสิ้น 32,562 ล้านบาท ส่วนอัตราหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 0.39 เท่า เพียงพอสำหรับการกู้ยืมเพิ่มเติมได้ ขณะที่ต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 4%
ด้วยงบการเงินที่แข็งแกร่งทำให้บริษัทสามารถที่จะลงทุนเพื่อที่จะขยายธุรกิจได้ โดยไม่กระทบกับนโยบายการจ่ายเงินปันผล 100% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินรวม โดยไม่เกินกำไรสะสมในงบการเงินเฉพาะบริษัท และมีเป้าหมายที่จะจ่ายเงินปันผลปีละ 2 ครั้ง
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนของบริษัทในปี 2558 ว่า บริษัทมองภาพในระยะยาวถึงการเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์ นอกเหนือจากการเป็นเพียงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งองค์ประกอบของการเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์ นอกเหนือจากธุรกิจด้านมือถือ จะมีธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ และธุรกิจด้านดิจิทัลคอนเทนต์เข้ามาผนวกด้วย
เพราะฉะนั้น ในปี 2558นอกเหนือจากการลงทุนในโครงข่าย 3G บริษัทจะเริ่มลงทุนในธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์หรืออินเตอร์บ้าน โดยบริษัทตั้งเป้าหมายในการหาลูกค้าให้ได้ 80,000 ราย และตั้งเป้าหมายจะเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการรายสำคัญในตลาดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
อีกทั้งบริษัทยังคงลงทุนในการผลิตคอนเทนต์ด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยการหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์ต่างๆ มาผนึกกำลังกันเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าของเอไอเอส โดยรายได้จากธุรกิจใหม่ทั้งอินเตอร์บรอดแบนด์และดิจิทัลคอนเทนต์ จะมีสัดส่วนมากขึ้นในอนาคตยุคดิจิทัลนี้
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งหมดที่ 40,000 ล้านบาท โดยบริษัทยังคงลงทุนในโครงข่าย 3G-2.1GHz อย่างต่อเนื่อง เน้นการเพิ่มจำนวนสถานีฐาน เพื่อเพิ่มความจุโครงข่ายให้สามารถรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งสถานีฐาน และ small cells รวมถึงการเพิ่มจุดเชื่อมต่อของ Wifi และอัพเกรด Wifi บางส่วนให้เป็น Super Wifi ซึ่งจะสามารถให้บริการด้วยความเร็วที่สูงถึง 650Mbps ได้
นอกจากนั้น บริษัทยังคงลงทุนในโครงข่ายใยแก้วนำแสง และ transmission ต่างๆ เพื่อเพิ่มความจุของโครงข่ายที่มี ทั้งนี้โครงข่ายใยแก้วนำแสงที่ลงทุน จะมีความสามารถในการรองรับธุรกิจอินเตอร์บรอดแบนด์ที่บริษัทกำลังจะเริ่มต้นทำในปีนี้ได้ด้วย และเพียงพอต่อการขยายโครงข่าย 4G ในอนาคต
รวมทั้งในปี 2558บริษัทยังคงมุ่งเน้นการอัพเกรดลูกค้าให้หันมาใช้เครื่องมือถือที่รองรับ 3G โดยบริษัทจะใช้กลยุทธ์ต่อเนื่องจากปีก่อน คือการหามือถือสมาร์ทโฟนที่รองรับ 3G แต่มีราคาที่จับต้องได้ และในปีนี้บริษัทจะนำมือถือที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟนเข้ามาทำตลาดด้วย โดยมือถือดังกล่าวจะสามารถรองรับ 3G ได้ แต่จะมีระดับราคาใกล้เคียงกับมือถือ 2G เพื่อให้ลูกค้าสนใจเปลี่ยนมือถือที่มีศักยภาพสูงกว่า ด้วยราคาเท่าเดิม
โดยเป้าหมายการเติบโตในปี 2558 บริษัทคาดว่าปีนี้รายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย) ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 3-4% โดยส่วนสำคัญมาจากการใช้งานดาต้าของลูกค้าที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตราเร่ง รายได้จากการขายมือถือน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากกลยุทธ์การเจาะตลาดลูกค้าระดับกลางและล่างของบริษัท รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจด้านมือถือเอง เมื่อลูกค้าหันมาใช้มือถือที่รองรับ 3G มากขึ้น
สำหรับโอกาสที่มีผลต่อการดำเนินงานนั้น มองว่าปัจจุบันรัฐบาลกำลังสนับสนุนเรื่องนโยบาย Digital Economy ซึ่งเรื่องของ Digital Economy คือการวางรากฐานของโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐาน เพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจในยุคดิจิตัล โดยมีการเชื่อมต่อของอินเตอร์เน็ตทั้งในแบบไร้สายและมีสาย ซึ่งบริษัทมีพื้นฐานด้านโทรคมนาคมอยู่แล้ว และบริษัทพร้อมที่จะสนับสนุนนโนยบาย Digital Economy เพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นอกเหนือจากนี้ทางรัฐบาลและ กสทช.ก็สนับสนุนการประมูลคลื่นเพื่อให้เอกชนนำมาพัฒนาระบบเทคโนโลยีไร้สาย โดยบริษัทพร้อมร่วมประมูลคลื่นเพื่อนำมาพัฒนาระบบ 4G
ส่วนการที่บริษัทมีคลื่นความถี่จำกัด ถือเป็นอุปสรรคที่มีผลต่อการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากความต้องการใช้งานดาต้าผ่านมือถือของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มเติมจึงมีความสำคัญ เพื่อนำมารองรับการขยายโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามบริษัทคาดว่าการประมูลคลื่น 1800MHz น่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2558 ซึ่งในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ให้บริการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ บริษัทมีความพร้อมเข้าร่วมประมูล และนำคลื่นความถี่มาใช้งานเพื่อให้บริการประชาชนบนโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง