ถึงเวลาที่ไทยต้องยกระดับเสียที
ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวของประเทศเวียดนามกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขบางตัวนั้นก็แซงหน้าประเทศไทยเราไปแล้ว จนทำให้หลายคนรู้สึกใจหายในทันที โดยเฉพาะเม็ดเงินของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ Foreign Direct Investment (FDI) ของทุกอุตสาหกรรม อีกทั้งตัวเลขยอดส่งออกผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามก็แซงหน้าเราไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
–ตามกระแสโลก–
จากการสำรวจของนักวิเคราะห์จากหลายสำนัก เปิดเผยให้เห็นถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวของประเทศเวียดนามกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขบางตัวนั้นก็แซงหน้าประเทศไทยเราไปแล้ว จนทำให้หลายคนรู้สึกใจหายในทันที โดยเฉพาะเม็ดเงินของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ Foreign Direct Investment (FDI) ของทุกอุตสาหกรรม อีกทั้งตัวเลขยอดส่งออกผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามก็แซงหน้าเราไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตั้งแต่ต้นปี 2555 มาจนกระทั่งสิ้นปี 2557 มูลค่า FDI ของทั้งเราและเวียดนามเดินสวนทางกันโดยสิ้นเชิง ของเรานั้นหดตัวลงทุกปี จากเคยอยู่ที่ระดับ 5.65 แสนล้าน ก็ถอยลงมาที่ระดับ 4.99 แสนล้านบาท และล่าสุดตกลงมาที่ 4.76 แสนล้านบาท ขณะที่ของเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จาก 2.51 แสนล้านบาท มาเป็น 4.57 แสนล้านบาท และล่าสุดมาอยู่ที่ 5.01 แสนล้านบาท โดยสรุปแล้ว เม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในบ้านเรานั้น ลดลงโดยเฉลี่ย 8.13% ต่อปี ส่วนเวียดนามนั้น เพิ่มขึ้นราว 45.67% ต่อปี
อย่างที่บอกไปแล้วว่า รู้สึกใจหายจริงๆ ที่เห็นตัวเลขออกมาเป็นเช่นนี้ ส่วนสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เวียดนามสามารถดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาได้มากกว่าไทยในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นเรื่องค่าแรงที่ถูกกว่า รวมไปถึงจำนวนแรงงานที่มีมากกว่า และที่สำคัญที่สุดคือ ไทยเรากำลังจะเสียสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ซึ่งส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เคยเข้ามาต้องไหลออกไปพอสมควร สู่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยังคงได้รับสิทธิดังกล่าวอยู่
จริงๆ แล้วหากมองอีกมุมหนึ่ง การที่เราหลุดออกจากกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดีได้เหมือนกันนะ เพราะนั่นหมายถึงว่าประเทศเราได้ยกระดับตัวเองขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ตามที่ธนาคารโลก หรือ World Bank จัดให้เราอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงมาตั้งแต่ปี 2554 แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เราอาจยังทำควบคู่ไปกับการยกระดับครั้งนี้ได้ไม่ดีนัก ซึ่งก็คือการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานะใหม่ที่ประเทศได้รับจาก World Bank นั่นเอง
ก่อนหน้านี้ตอนไทยยังได้รับสิทธิดังกล่าวอยู่ เราได้รับความนิยมในการเข้ามาลงทุนมากกว่าเวียดนามหลายขุม ด้วยปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ชัดเจนกว่า ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า เทคโนโลยีที่สูงส่งกว่า เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า รวมไปถึงแรงงานที่คุณภาพดีกว่า แต่ตอนนี้พอเราถูกตัดออกไป ผู้ประกอบการต่างชาติทั้งหลายที่เคยให้ความนิยมชมชอบต่างพากันขนย้ายเงินออกนอกประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ปัจจัยพวกนั้น ที่ทำให้เราเคยดีกว่าเวียดนามในอดีต จริงๆแล้วก็ไม่ได้ดีจริง อีกทั้งไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน มากเท่ากับสิทธิพิเศษด้านภาษีสำหรับการส่งออกเลย
เพราะฉะนั้นก็สรุปได้ว่า เวียดนามเขามีความได้เปรียบเราเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งหากเรายังไม่สามารถพัฒนาปัจจัยเหล่านั้นให้มีคุณภาพที่ยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่สูงกว่า เพื่อให้ขึ้นมาหักล้างเรื่อง GSP ได้ ตัวเลข FDI จะต้องแย่ลงไปกว่านี้อีกทุกปีๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสร้างจุดเด่น (ที่ดีและมีประสิทธิภาพจริงๆ) ให้ตัวเราเองแตกต่างออกไปจากเวียดนาม เพื่อให้ทั่วโลกรู้สึกถึงความจำเป็นในการที่จะต้องเข้ามาลงทุนในไทย
ค่าแรงขั้นต่ำก็ปรับขึ้นมาแล้ว ระดับรายได้ของประเทศก็ขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์สูงขึ้นแล้ว ตอนนี้สิ่งที่ขาด คงมีเพียงการค้นหาแก่นแท้ของตัวเอง เพื่อพัฒนายกระดับประเทศชาติให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย”