เศรษฐกิจแย่ หุ้นวิ่ง บาทแข็ง
ค่าเงินบาทแข็งทีไร มักจะทำให้ผู้บริหารกระทรวงการคลัง กับผู้บริหารแบงก์ชาติ ขัดแย้งทางด้านความเห็นต่อนโยบายการเงินเสมอ เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดา ก็คือ มีกองเชียร์ที่ถือหางแบงก์ชาติในกลุ่มสื่อมากกว่าเสมอ ไม่รู้เป็นเพราะสื่อฉลาดกว่าผู้บริหารกระทรวงการคลัง หรือเพราะผู้บริหารกระทรวงการคลังมีความล้มเหลวในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อ
ค่าเงินบาทแข็งทีไร มักจะทำให้ผู้บริหารกระทรวงการคลัง กับผู้บริหารแบงก์ชาติ ขัดแย้งทางด้านความเห็นต่อนโยบายการเงินเสมอ เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดา ก็คือ มีกองเชียร์ที่ถือหางแบงก์ชาติในกลุ่มสื่อมากกว่าเสมอ ไม่รู้เป็นเพราะสื่อฉลาดกว่าผู้บริหารกระทรวงการคลัง หรือเพราะผู้บริหารกระทรวงการคลังมีความล้มเหลวในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อ
บาทแข็งครั้งนี้ก็เช่นกัน เพราะขณะที่แนวโน้มค่าดอลลาร์ในตะกร้าเงินทั่วโลกมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมา แต่จู่ๆ ค่าเงินบาทก็แข็งกว่าค่าดอลลาร์ ดังนั้น คงจะไม่ต้องมาถามว่า ค่าบาทอ่อนหรือแข็งเทียบกับเงินสกุลอื่นทั่วโลก
รัฐมนตรีคลัง สมหมาย ภาษี ก็ออกโรงมาพูดว่า แบงก์ชาติน่าจะลดดอกเบี้ยหลายๆ ครั้ง เป็นการส่งสัญญาณให้ค่าบาทที่แข็งเกินจริงอ่อนตัวลง ก่อนที่จะถูกกลุ่มทุนเก็งกำไรหาประโยชน์
แบงก์ชาติก็คงเงียบ และอ้างเอา ”ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” เป็นเกราะกำบัง ทำไขสือเสีย เพราะไม่อยากให้ใครมาออกคำสั่ง เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะยังไงเสีย แบงก์ชาติก็ยังมีสื่อสารพัดกลุ่มเป็นกองเชียร์ตะพึดตะพืออยู่แล้ว จะถูกหรือผิดก็ยังรักจะเชียร์กัน
ประเด็นเรื่องการอ่อนค่า หรือแข็งค่าของดอลลาร์ เป็นปัญหาที่ชาติอื่นๆ นอกจากสหรัฐต้องปรับตัวกันทุกหนแห่ง เพราะความเป็นสากลของค่าดอลลาร์นั้น ทำให้ทุกครั้งเมื่อค่าเปลี่ยนแปลง จะส่งผลต่อราคาสินค้า สินทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ทุกชนิดในโลกแบบครอบจักรวาล เพียงแต่ผลกระทบจะแตกต่างกันไป
ปมประเด็นสำคัญของการอ่อนหรือแข็งของค่าดอลลาร์นั้น เกิดขึ้นจากนโยบายการเงินของเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐเป็นสำคัญ เพราะเฟดสามารถพิมพ์ธนบัตรให้มากหรือน้อยได้ตามใจชอบ โดยไม่ต้องมีทองคำสำรองหนุนหลังแบบธนาคารชาติอื่นๆ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครเลย
สำหรับชาติเล็กอย่างไทยนั้น หากค่าดอลลาร์แข็ง เงินบาทจะอ่อน ทำให้ส่งออกดีขึ้น แต่มุมกลับเงินทุนจะไหลออกไปถือดอลลาร์ ทำให้ตลาดหุ้นตก ในมุมกลับ หากดอลลาร์อ่อน บาทจะแข็ง ทำให้ส่งออกย่ำแย่ แต่เงินทุนเก็งกำไรจะไหลเข้า
ตัวอย่างวานนี้ ที่ต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นดันดัชนีบวกแรง ก็เพราะบาทดันแข็งค่าสวนกระแสโลกเสียอีก เพราแข็งค่ามากกว่าดอลลาร์ ทั้งที่คนบ่นกันทั้งโลกว่าดอลลาร์แข็งเกินไปแล้ว จากการที่ตลาดคาดเดาว่าเฟดของสหรัฐจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ดอลลาร์แข็งขึ้นล่วงหน้าตามการส่งสัญญาณ
สภาพของตลาดหุ้นหรือตลาดเก็งกำไรทั่วโลกทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วยามนี้ สามารถทำให้นักวิเคราะห์กลายเป็นศาสดา หรือไม่ก็ตัวตลก เพราะประเด็นเรื่องของการวิเคราะห์ความเสี่ยง มีกระบวนทัศน์ที่หลากหลายสำนัก นับแต่สำนักของนักเศรษฐศาสตร์ และนักการเงินหัวโบราณ ที่อาศัยกรอบวิธีคิดแบบเก่า “กับดักของพลาโต้” จนถึงทฤษฎีหงส์ดำ ของนัสซิม ทาเล็บ และทฤษฎี fractal finance ของเบนวา แมนเดลโบรท นักคิดยุคใหม่ ที่มองเห็นว่า การลองผิดลองถูก เป็นกระบวนการคิดใหม่ที่ควรยึดถือมากกว่า
การทะยานขึ้นของตลาดหุ้นหรือตลาดเก็งกำไร ในยามที่เศรษฐกิจย่ำแย่ เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ สำหรับนักวิเคราะห์ที่อาศัยความคิดสำนักใหม่ เพราะทฤษฎีใหม่นี้ เน้นการหาช่องว่างในความแตกต่างระหว่าง ความเสี่ยง กับความไม่แน่นอน ที่แม้จะเหลื่อมซ้อนกันอยู่ แล้วนำมาบริหารการเก็งกำไร
ในอดีต ความเสี่ยงและความไม่แน่นนอน อาจจะพออนุโลมได้ว่า เป็นเรื่องเดียวกันแต่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และการไหลเวียนของทุนเก็งกำไรในตลาดโลกวันละประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน มีส่วนทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยง กลายเป็นสิ่งที่นักการเงินต้องถือว่าความจำเป็นที่ขาดเสียไม่ได้
ภายใต้กรอบคิดใหม่นี้ ทำให้แนวคิดเก่าคร่ำคร่าอย่างของนักเศรษฐศาสตร์อย่าง แฟรงก์ ไนท์ ที่เป็นต้นธารของเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก สำนักชิคาโก ในหนังสือชื่อ Risk, Uncertainty, and Profits ซึ่งให้คำนิยามเอาไว้ว่า
– ความไม่แน่นอน หมายถึงสภาวะซึ่งยากจะทราบชัดถึงความเป็นไปได้ของปรากฏการณ์ในอนาคตเกี่ยวกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยเกณฑ์วัดความไม่แน่นอน ได้แก่ ชุดของความเป็นไปได้ที่ไม่รู้ค่าที่เลื่อนไหลไปมาจนยากจะคาดคะเนได้
– ความเสี่ยง หมายถึงสภาวะซึ่งสามารถทราบบางส่วนถึงความเป็นไปได้ของปรากฏการในอนาคตว่า ภายใต้เงื่อนไขใดบ้างจะเกิดความเสียหาย โดยที่เกณฑ์วัดความเสี่ยง ได้แก่ ชุดความเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขที่ชัดเจน พร้อมกับระดับของความเสียหายที่พึงประเมินได้ที่เป็นผลพวงของปรากฏการณ์
คำอธิบายของไนท์ สามารถอธิบายปรากฏการณ์ในเรื่องการทะยานขึ้นของดัชนีดาวโจนส์หรือดัชนีหุ้นที่อื่นๆ ได้ชัดเจนว่า เมื่อใดที่ตลาดสามารถที่จะรับทราบความเสี่ยงของผู้ที่เกี่ยวข้องได้ชัดเจน ไม่ต้องคาดเดากันอีกต่อไป ความคลุมเครือจากความไม่แน่นอนนั้น ถือว่าได้จบสิ้นลงไปแล้ว
คำอธิบายสำหรับเรื่องบางเรื่อง อาจจะน่าประหลาดใจ แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากนักลงทุนสามารถหลุดพ้นจากกรอบคิดว่าด้วย “กับดักพลาโต้” ไปได้