งัดหุ้น Global ลงทุนช่วงเศรษฐกิจไทยผันผวน5 บจ.เด็ดกำไรงาม จับเข้าพอร์ตจังหวะมีอัพไซด์

บล.เอเซีย พลัส แนะนำกลยุทย์การลงทุนช่วงภาวะเศรษฐกิจในประเทศย่ำแย่ สลับมาเลือกหุ้น Global (อิงกับปัจจัยภายนอก/เศรษฐกิจโลก) แต่คงเลือกเป็นรายบริษัท แนะนำ 5 หุ้นเด่นที่คาดว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดและมีสัญญานการฟื้นตัวที่ดีขึ้น


บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (17 เม.ย.) ว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ย่ำแย่ และดูเหมือนว่าปี 2558 จะเติบโตได้ไม่เกิน 3% และ ยังมีคำถามว่าในระยะกลางและยาว ไทยยังจะเติบโตในระดับ 4-5% ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านได้หรือไม่ เนื่องจากเครื่องจักรหลักๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังทำงานไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุน ทั้งภาครัฐ และ เอกชน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของผู้ประกอบการที่อิงเศรษฐกิจในประเทศในระยะสั้นๆ โดยเฉพาะที่อิงการกับการบริโภคในประเทศ (ค้าส่ง ค้าปลีก) ธนาคารพาณิชย์ และ ภาคก่อสร้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในจังหวะนี้แนะนำให้สลับมาเลือกหุ้นที่อิงกับปัจจัยภายนอก/เศรษฐกิจโลก แต่คงเลือกเป็นรายบริษัท ที่คาดว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดและมีสัญญานการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

เริ่มจากหุ้นในกลุ่มน้ำมัน (PTT, PTTEP) พบว่าล่าสุดราคาน้ำมันดิบโลกได้ฟื้นตัวต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดเมื่อเดือน ม.ค. 2558 กล่าวคือ ราคาน้ำมันดิบดูไบขยับขึ้นจาก ระดับต่ำสุดที่ 44.30 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขึ้นมาเหนือ 50 เหรียญ ฯ ต่อบาร์เรล และ ล่าสุดวานนี้สามารถยืนเหนือ 60.95 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

แม้ทำให้ราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 52.58 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งแม้ยังห่างจากสมมติฐานของฝ่ายวิจัยที่ประเมินไว้ที่ 75 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในปี 2558 และในปีถัดๆ ไป (จะให้เป็นไปตามสมมติฐานเฉลี่ยว่าในช่วง 9 เดือน ที่เหลือของปีนี้น่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 86.22 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล) แต่เชื่อว่าราคาน้ำมันน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สะท้อนจากที่ IMF ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2559 ขึ้น เป็น 3.8% จากเดิม 3.7% และยังคงไว้ที่ 3.5% ในปี 2558

ถึงปัญหาด้านปริมาณการผลิตเกินความต้องการยังมีอยู่ แต่คาดว่าจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลงกล่าวคือ แม้ OPEC เน้นย่ำที่จะคงการผลิตที่เดิม เพื่อกดดันประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีต้นทุนการผลิตภายใต้เทคโนโลยีการผลิตที่สูงกว่า โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันใต้ชั้นหินดินดานในสหรัฐ และ แคนาดา ซึ่งล่าสุดมีการรายงานจาก IEA ในเดือนล่าสุด ระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศได้ลดกำลังการผลิตลงแล้ว (ตามแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ลดลงตั้งแต่ต้นปี 2558) ทำให้การส่งออกน้ำมันนอกกลุ่ม OPEC ลดลงราว 16% จากเฉลี่ยวันละ 7.5 แสนบาร์รเลต่อวัน รวมถึงสถานการณ์รบในเยเมน ทำให้การผลิตน้ำมันในเดือน เม.ย. ลดลง 50% จากปกติที่ผลิตได้วันละ 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้ ยังมีหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจภายนอกอีกหลายบริษัทที่แนะนำให้เลือกเข้าพอร์ตในช่วงที่ราคาหุ้นยังมี upside จากมูลค่าหุ้น ได้แก่ RCL, STPI, VNG เป็นต้น

 

ptt20150417

 

PTTEP (FV@B 134): ราคาน้ำมันโลกในช่วงไตรมาส 1/58 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานปกติลดลง 65.7% จากไตรมาสก่อน แต่ยังมีปัจจัยบวกจากต้นทุนรวมที่ลดลงถึง 14.7% จากไตรมาสก่อน และบันทึกภาษีจ่ายลดลงเนื่องจากผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จึงคาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 1/58 จะพลิกกลับมาเป็นกำไรสุทธิได้ ซึ่งจะเป็นจุดต่ำสุดของปี แต่หลังจากนี้น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันที่จะทยอยฟื้นตัวจากปัจจัยทั้งทางด้าน Demand ที่น่าจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก และด้าน Supply ที่คาดการณ์สถานการณ์ Oversupply จะค่อยๆ ลดลง

PTT (FV@B 398): คาดผลการดำเนินงานน่าจะพลิกกลับเป็นกำไรสุทธิได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/58 เป็นต้นไป โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน (ราคาขายก๊าซ LPG หน้าโรงแยกก๊าซฯ และการปรับเพิ่มราคาขายปลีก NGV) จึงเชื่อว่าภาพรวมธุรกิจพลังงานน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มกำไรปี 2558 จะขึ้นทำระดับสูงสุดใหม่เกิน 1 แสนล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 91.5% จากปีก่อน

 

RCL (FV@B 13.1): พบว่าสัญญาณการฟื้นตัวของดัชนี Howe Robinson ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 15 แม้กำลังซื้อโลกจะยังชะลอตัวก็ตาม แต่เนื่องจากสินค้าที่ขนเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค จึงทำให้มีความจำเป็นการซื้อขาย (เสื้อผ้า อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น) และ ขนส่งกันอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนน้ำมันเฉลี่ยจากช่วงต้นปี (คิดเป็นสัดส่วน 20% ของต้นทุนรวม) ต่ำกว่าปีที่แล้วถึง 49% จึงคาดว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 1/58 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2/58 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลสูงสุดของธุรกิจเดินเรือคอนเทนเนอร์ คาดการณ์กำไรปกติปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 88%

VNG (FV@B 10.25): อยู่ในภาวะที่ราคาขายสินค้าอยู่ในระดับสูงจากความต้องการที่มากขึ้น ด้วยแรงหนุนจากความต้องการสินค้าไม้บอร์ดที่มากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ Supply ใหม่ในเอเซียมีจำกัด จึงทำให้ราคา Particle Board และ MDF ไม่ได้ปรับลงเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ขณะที่ต้นทุนการผลิตหลัก อย่างเช่น เศษไม้ยางฯ และกาว ปรับตัวลดลงและทรงตัวในระดับต่ำตลอดทั้งปี บวกกับการดัดแปลงสายการผลิตใหม่ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้มี margin สูง ขึ้น คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 เติบโตสูงถึง 42% จากปีก่อน

STPI (FV@B 23.64): ประเด็นความกังวลเกี่ยวกับงานลงทุน LNG ที่ถูกเลื่อนออกไปหลายโครงการได้สะท้อนผ่านราคาหุ้นไปแล้ว ขณะที่โครงการ Pacific Northwest LNG ยังเดินหน้าต่อ และจะประกาศผล EPC Contractor เดือน มิ.ย. นี้ ซึ่ง STPI มีลุ้นได้งานค่อนข้างสูง ขณะที่งานประมูลอื่นๆ ส่วนใหญ่รู้ผลช่วงไตรมาส 3/58 ถึงปลายปีนี้ จึงเชื่อว่า STPI จะสามารถเซ็นสัญญารับงานใหม่เข้ามาได้อย่างน้อย 1 โครงการ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการปี 2560 กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ขณะที่ผลประกอบการปี 2558 คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 22% จากปีก่อน

 

ที่มา: บทวิเคราะห์ Market Talk 17 เม.ย.58

Back to top button