อิหร่านคือสุดยอดของการรู้จักรักษ์ตัว
ราคาน้ำมันมันดิบที่เริ่มตกต่ำมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ส่วนหนึ่งเป็นไปได้ว่า เกิดจากความตั้งใจของ สหรัฐอเมริกาและซาอุดิอาระเบีย ที่ต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น เพราะมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำลายล้างศัตรูหรือคู่แข่งของทั้งคู่ โดยเฉพาะในรายของอิหร่าน รัสเซีย รวมไปถึงเวเนซูเอลา ซึ่งต่างมีรายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมันกันทั้งสิ้น
–ตามกระแสโลก–
ราคาน้ำมันมันดิบที่เริ่มตกต่ำมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ส่วนหนึ่งเป็นไปได้ว่า เกิดจากความตั้งใจของ สหรัฐอเมริกา และ ซาอุดิอาระเบีย ที่ต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น เพราะมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำลายล้างศัตรูหรือคู่แข่งของทั้งคู่ โดยเฉพาะในรายของอิหร่าน รัสเซีย รวมไปถึงเวเนซูเอลา ซึ่งต่างมีรายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมันกันทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันดิ่งลงเหว มันก็เท่ากับเป็นการทะลวงขั้วหัวใจของทั้ง 3 ประเทศเหล่านี้
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า การที่สหรัฐฯกับซาอุฯทำเช่นนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับตัวเองหรอกหรือ เนื่องจากทั้งคู่ก็เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น คำตอบคือ กระทบแน่นอน เพียงแต่ผลกระทบที่ทั้ง 2 ชาตินี้จะได้รับ ความรุนแรงมันแตกต่างออกไปจากกรณีของอิหร่าน รัสเซีย และเวเนฯอย่างสิ้นเชิง โดยทั้งสหรัฐฯและซาอุฯต่างรู้ดีว่า ผลลัพธ์ที่จะได้จากการทุบราคาน้ำมันนั้น มันคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้มซะอีก
สำหรับกรณีนี้ คงไม่ต้องพูดถึงรัสเซียกับเวเนฯมาก แค่เอาเป็นว่า รัสเซียนั้นเจ๊งกะบ๊งไปตั้งแต่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยสหภาพยุโรปแล้ว ส่วนราคาน้ำมันที่ตกต่ำก็ถือเป็นการปิดจ๊อบให้สมบูรณ์แบบ เพราะเท่ากับเป็นการตัดรัสเซียออกจากการเป็นเสี้ยนหนามของพวกมะกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขณะที่เวเนฯเองก็สิ้นเนื้อประดาตัวลงทุกวันๆ เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตน้ำมันที่สูงถึง 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มิหนำซ้ำรายได้จากการส่งออกของประเทศกว่า 90% ก็มาจากการขายน้ำมันล้วนๆ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้ อยู่ตรงการรู้จักเอาตัวรอดของอิหร่านนั่นเอง เนื่องจากพวกเขาสามารถต่อกรกับแผนทำลายล้างได้อย่างล้ำลึกจนไม่น่าเชื่อ และแน่นอนว่า อิหร่านคือตัวแปรตัวเดียวที่ยังทำให้ทั้งสหรัฐฯและซาอุฯไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ดั่งใจหวัง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากเทียบกับอีก 2 ชาติที่กล่าวไว้ข้างต้น อิหร่านน่าจะเป็นชาติแรกที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยซ้ำ เมื่อคำนึงถึงปัจจัยกดดันต่างๆที่อิหร่านต้องแบกรับ
ทั้งนี้ อิหร่านได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง ทั้งจากน้ำมันราคาถูกและการถูกจำกัดปริมาณการส่งออกน้ำมัน รวมไปถึงการถูกจำกัดการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และชาติพันธมิตรทั้งสิ้น ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯและซาอุฯต้องการกำจัดพวกเขาออกไปจากทางก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าอิหร่านสามารถขึ้นมามีอิทธิพลทางการเมืองที่เทียบทานกับซาอุฯได้นั่นเอง
=
เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเยเมน ณ ขณะนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการแก้เกมราคาน้ำมันของอิหร่าน โดยสามารถเห็นได้จากการที่พวกเขาเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกลุ่มกบฏที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งนั่นหมายถึงว่า อิหร่านต้องการให้สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อบานปลายออกไป เพราะยิ่งนานเท่าไหร่ก็ยิ่งจะส่งผลบวกต่อราคาน้ำมัน แล้วยิ่งราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อตัวอิหร่านเอง
ถ้าหากดูตามหลักภูมิศาสตร์ จะเห็นได้ว่า ที่ตั้งของประเทศเยเมนนั้นถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ของโลกอีกจุดหนึ่ง ที่จะสามารถมีผลกระทบเหนืออุปทานน้ำมันได้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ เรือบรรทุกน้ำมันจำนวนมากจำเป็นต้องแล่นผ่านน่านน้ำบริเวณพื้นที่สู้รบของฝ่ายทหารรัฐบาลและทหารฝ่ายต่อต้าน ดังนั้นน้ำมันดิบปริมาณไม่มากก็น้อยจะไม่สามารถผ่านออกมาสู่ตลาดโลกได้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง
วิธีนี้อาจจะทำให้ราคาปรับตัวขึ้นแค่ในระยะสั้นถึงกลางเท่านั้น แต่อย่างน้อยที่สุดก็สามารถต่อลมหายใจให้อิหร่านได้อีกหนึ่งเฮือกใหญ่ๆ และก็ไม่เพียงเท่านี้ เพราะล่าสุดอิหร่านก็เพิ่งจะลงนามในสัญญาว่า จะยอมรับเงื่อนไขไว้พิจารณา สำหรับเรื่องส่งมอบแร่ยูเรเนียมบางส่วนให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลของประเทศที่สหรัฐฯและชาติพันธมิตรไว้วางใจ เพื่อแลกกับการปลดล็อคตัวเองจากการถูกคว่ำบาตร
ก่อนหน้านี้อิหร่านอาจจะถูกมองว่า เป็นชาติที่ดื้อรั้นมากที่สุดในเรื่องการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์รองลงมาจากเกาหลีเหนือ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ตอนนี้ เปรียบได้ดั่งอิหร่านกำลังใช้ตำรา แพ้วันนี้เพื่อชนะในวันหน้า เพราะการยอมอ่อนข้อของอิหร่านในครั้งนี้จะส่งผลให้พวกเขากลับมาส่งออกน้ำมันได้มากขึ้น อีกทั้งยังจะสามารถกลับมาทำการค้าขายสินค้าประเภทอื่นกับต่างชาติได้มากขึ้นอีกด้วย
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปราดน้ำมันในสงครามเยเมน หรือการยอมลดราวาศอกเรื่องนิวเคลียร์ ทั้งสองวิธีนี้ถือเป็นความฉลาดล้ำลึกในการกู้สถานการณ์ของอิหร่านเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งวิธีการเหล่านี้ยังถือเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการต่อสู้กับศัตรูอย่างสหรัฐฯ ที่ไม่ว่าราคาน้ำมันจะถูกหรือแพงก็ไม่ต้องสนใจ เพราะตัวเองเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายรายใหญ่ หรือแม้กระทั่งจะเป็นศัตรูอย่างซาอุฯ ที่ไม่ต้องแคร์เรื่องราคาน้ำมัน เพราะถือว่าต้นทุนของตัวเองนั้นถูกเหลือหลาย แถมยังเป็นผู้ควบคุมตลาดอีกต่างหาก