ดอลล์วันศุกร์อ่อนค่าหลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 เม.ย.) เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอ
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(24 เม.ย.) เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอ ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0867 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0825 ดอลลาร์, ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ 1.5174 ดอลลาร์ จากระดับ 1.5057 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบกับสกุลเงินเยนสู่ระดับ 118.87 เยน จากระดับ 119.49 เยน อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสสู่ระดับ 0.9535 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9547 ฟรังก์ และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาสู่ระดับ 1.2173 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2144 ดอลลาร์แคนาดา ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7823 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7777 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจโดยรวมที่อ่อนแอ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 4% ในเดือนมี.ค. แต่ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ไม่รวมหมวดการขนส่งซึ่งมีความผันผวน ปรับตัวลง 0.2% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการร่วงลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ในเดือนมี.ค.ดิ่งลง 11.4% สู่ระดับ 481,000 ยูนิต ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2556 จากระดับ 543,000 ยูนิตในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2551
ส่วนสกุลเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังนายยานิส วารูฟากิส รมว.คลังกรีซ ระบุว่า เขาเห็นพ้องกับเงื่อนไขบางข้อของกลุ่มเจ้าหนี้ โดยเขาเปิดกว้างต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการตั้งคณะกรรมาธิการภาษีที่เป็นองค์กรอิสระ
อย่างไรก็ตาม ต่อมากรีซและกลุ่มเจ้าหนี้ยูโรโซนคว้าน้ำเหลวในการประชุมระหว่างกรีซและรัฐมนตรีคลังของยูโรโซนซึ่งเสร็จสิ้นวานนี้ โดยที่ประชุมไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ขณะที่กรีซยังคงมีความขัดแย้งกับกลุ่มประเทศเจ้าหนี้เกี่ยวกับมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินการเพื่อแลกกับการได้รับเงินช่วยเหลืองวดต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ และเสี่ยงต่อการหลุดออกจากยูโรโซน