ความอัปยศเหนือกฎหมาย สุทธิชัย หยุ่น
ผมเคยเขียนเตือนไปแล้วในข้อเขียนเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ในหัวข้อ ”การต่อสู้ครั้งสุดท้าย สุทธิชัย หยุ่น” ว่า ปฏิบัติการแย่งชิงกิจการ ที่สุทธิชัย หยุ่นและพวกผู้บริหารเครือเนชั่นกำลังทำอยู่ในกรณีบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ทั้งการทำสงครามภาพลักษณ์ในช่วงแรก มาสู่สงครามรวบรวมหุ้นในตลาดในรูปแบบการต่อสู้ฉันปรปักษ์ เป็นพัฒนาการที่จนตรอก นอกจากจะไม่สามารถปกป้ององค์กรที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ยังทำให้บารมีที่สั่งสมมายาวนานเสื่อมถอยลง
ผมเคยเขียนเตือนไปแล้วในข้อเขียนเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ในหัวข้อ ”การต่อสู้ครั้งสุดท้าย สุทธิชัย หยุ่น” ว่า ปฏิบัติการแย่งชิงกิจการ ที่สุทธิชัย หยุ่นและพวกผู้บริหารเครือเนชั่นกำลังทำอยู่ในกรณีบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ทั้งการทำสงครามภาพลักษณ์ในช่วงแรก มาสู่สงครามรวบรวมหุ้นในตลาดในรูปแบบการต่อสู้ฉันปรปักษ์ เป็นพัฒนาการที่จนตรอก นอกจากจะไม่สามารถปกป้ององค์กรที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ยังทำให้บารมีที่สั่งสมมายาวนานเสื่อมถอยลง
เมื่อวานนี้ การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น NMG ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค สุขุมวิท สุทธิชัย หยุ่น กับพวก มีเรื่องให้พูดถึงมากยิ่งขึ้น เพราะพวกเขาเดินหน้าไปไกลเกิน ถึงขั้นทำลายหลักธรรมาภิบาลของบริษัทมหาชนจดทะเบียนตามกฎหมายบริษัทหลักทรัพย์ฯ และกฎหมายบริษัทมหาชน อย่างน่าอัปยศ
การระดมชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่ง และประธานการประชุม (ทำการแทนสุทธิชัย หยุ่น ที่ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการล่วงหน้าการประชุมไม่ถึง 1 วัน) สั่งการให้เจ้าหน้าที่ขัดขวางกลุ่มผู้ถือหุ้นและตัวแทนที่ถือเอกสารมอบฉันทะ ที่คาดว่าจะเป็นอริของกลุ่มผู้บริหาร โดยระบุถึงรายชื่อ ”บุคคลต้องห้าม” ไม่ให้เข้าร่วมประชุม แล้วรวบรัดลงมติตามวาระที่กำหนดขึ้นมาเองโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถาม เปิดโปงเบื้องหลังภาพลักษณ์ประดิษฐ์ที่อำพรางเอาไว้จนล่อนจ้อน
พฤติกรรมของสุทธิชัย หยุ่นและพวกเมื่อวานนี้ เปรียบได้กับนิทานเรื่อง “อาภรณ์ใหม่พระราชา” ของฮันส์ คริสเตียน แฮนเดอร์เซ็น ไม่มีผิด
ตามหลักการกฎหมายบริษัท สิทธิในการมีส่วนร่วมออกเสียงและซักถาม (แม้บางครั้งจะถูกตีความว่ารบกวน) ของผู้ถือหุ้นทุกราย (ไม่ว่าจะมีคุณธรรมหรือไม่ก็ตาม) ได้รับหลักประกันเอาไว้ชัดเจน การขัดขวางผู้ถือหุ้นบางกลุ่มที่ผู้บริหารถือว่าเป็นอริกับฝ่ายตน จึงไม่แปลกที่จะมีผู้ถือหุ้นบางกลุ่มเตรียมดำเนินการทางกฎหมายให้การประชุมดังกล่าวเป็นโมฆะ
พฤติกรรมในการประชุมของสุทธิชัย หยุ่น มุ่งหวังชัยชนะในการยึดอำนาจการบริหารจัดการบริษัท NMB อย่างดิบเถื่อน ให้ยาวนานที่สุด ไม่เพียงแต่ผิดกฎหมายอาญา หากยังผิดวิสัยและปรัชญาคนที่อ้างตนมีคุณธรรม และอาชีวะปฏิญาณของวิชาชีพสื่ออย่างถึงที่สุด
หากพฤติกรรมของสุทธิชัย หยุ่น และพวกวานนี้ ถูกถือว่ามีธรรมาภิบาลสูงแล้วละก้อ พวกเขาย่อมไม่สามารถกล่าวหาคนที่ไม่เชื่อใน “ผิดจากนี้ ไม่ใช่เรา” ว่า บกพร่องทางด้านจริยธรรมของวิชาชีพได้เลย
โมหาคติที่สุทธิชัย หยุ่นและพวก เชื่อว่าตนเองคือทุกอย่างของ NMG ทำให้พวกเขาเพิกเฉยข้อเท็จจริงว่า กฎหมายบริษัทธุรกิจของไทย ไม่ได้มีข้อความใดที่เปิดช่องให้กับ การตัดหรือลดทอนสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นบางกลุ่ม แล้วเพิ่มสิทธิ์หรือให้อภิสิทธิ์กับกลุ่มผู้ถือหุ้นบางกลุ่ม ไม่เหมือนในบางประเทศ ที่มีกฎหมายให้อำนาจพิเศษของผู้ถือหุ้นบางกลุ่ม ดังนี้คือ
–กฎหมายหุ้นทองคำ หรือ golden shares law โดยให้มีหุ้นที่ผู้ถือครองหุ้น (บริษัทหรือหน่วยงานรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งมีการแปรรูปจากรับวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน หรือ มหาชน) สามารถที่จะล้มอำนาจการใช้สิทธิออกเสียง (วีโต้ = veto power) ของผู้ถือหุ้นอื่นๆ ได้ทั้งหมด สามารถใช้อำนาจออกเสียงเกินจำนวนหุ้นปกติ ถือเป็นการแทรกแซงโดยตรงต่อบริษัท ผู้ถือหุ้น พนักงาน และผู้บริหารของบริษัท หรือบริษัทในเครือและบริษัทลูก หรือบริษัทร่วมทุนด้วย โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ
ประเทศที่เริ่มนำกฎหมายหุ้นทองคำมาใช้ ได้แก่ อังกฤษในยุคของนางมาร์กาเรต แธตเชอร์ โดยต่อมาได้แพร่กระจายทั่วสหภาพยุโรป รวมถึงรัสเซียยุคหลังคอมมิวนิสต์ สิงคโปร์ จีน และมาเลเซีย แต่ในปัจจุบันเหลือประเทศที่ใช้กฎหมายนี้เฉพาะ รัสเซีย สิงคโปร์ จีน และมาเลเซียเท่านั้น แต่ถูกยกเลิกในสหภาพยุโรปทั้งหมด เพราะศาลสูงของสหภาพยุโรป ระบุว่ากฎหมายดังกล่าว ขัดขวางปรัชญาการเคลื่อนย้ายทุนของสหภาพ
–กฎหมายหุ้นของผู้ก่อตั้ง dual-class shares law ใช้เฉพาะในสหรัฐที่เดียวเท่านั้นในโลกนี้ โดยกำหนดให้บริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ที่ต้องการรักษาอภิสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นรุ่นก่อตั้งเอาไว้ สามารถกำหนดเงื่อนไขไว้ในหนังสือชี้ชวนว่า จะแบ่งหุ้นเป็นสองส่วน ส่วนแรก A-shares เป็นของผู้ถือหุ้นเดิมที่มีอำนาจการออกเสียงมากกว่าปกติ เรียกว่า super-voting shares (1 หุ้น ใช้สิทธิออกเสียงได้ 10 หุ้น) และขายหุ้น B-shares ให้ผู้ถือหุ้นใหม่ มีอำนาจออกเสียงปกติ
เป้าหมายของการมีหุ้นดังกล่าว เพื่อลดความสามารถของนักล่าบริษัทที่ต้องการควบรวมกิจการที่เข้าตลาดหุ้นมาไว้ในกำมือ แต่ในทางปฏิบัติ ถือว่าผิดหลักนิติธรรม ปัจจุบันหุ้นบริษัท Berkshire Hathaway Inc. ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ และ Google ก็ระบุเงื่อนไขนี้ไว้ด้วย
-กฎหมายกำหนดให้รัฐเรียกราคาหุ้นย้อนหลัง (residual government shareholding law) เคยใช้แห่งเดียวในโลกไม่กี่ครั้งที่ประเทศอินเดีย เป็นส่วนหนึ่งของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มีข้อกำหนดว่า ในกรณีที่รัฐบาลได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลง เปิดทางให้นักลงทุนได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุน แม้ว่าราคาที่ซื้อไปนั้น ตอนแรกจะถือเป็นราคายุติธรรม แต่หลังจากเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไประยะหนึ่งแล้ว ราคาหุ้นวิ่งขึ้นต่อเนื่อง ให้ถือเสมือนว่า ราคาหุ้นจองที่นักลงทุนซื้อ ต่ำกว่าราคายุติธรรม รัฐบาลสามารถเรียกส่วนเพิ่มของราคาหุ้นจากนักลงทุนที่ซื้อไป หรือถืออยู่ ณ เวลานั้น เพิ่มเติมได้ ในอัตราหรือจำนวนเงินที่แน่นอนได้ กฎหมายนี้ถูกวิจารณ์รุนแรงมาก จนต้องยกเลิกไป ปัจจุบันไม่มีใช้ในโลก
เมื่อประเทศไทย ไม่มีกฎหมายพิเศษทั้งสามข้างต้น สุทธิชัย หยุ่น และพวกจึงมีพฤติกรรม “เหนือกฎหมาย” ที่ชัดเจน แล้วธรรมาภิบาลและอาชีวะปฏิญาณที่พวกเขากอดยึดเอาไว้เป็นเกราะกำบัง จึงเป็นคุณค่าส่วนตัวที่เหนือกฎหมายโดยปริยาย