บาทอ่อนโดยเจตนาพลวัต2015
ปีนี้กนง.ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 2 ครั้งรวด แม้จะทำปากแข็งว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ย่ำแย่ แถมยังจะดีขึ้นเสียด้วย
ปีนี้กนง.ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 2 ครั้งรวด แม้จะทำปากแข็งว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ย่ำแย่ แถมยังจะดีขึ้นเสียด้วย
การลดดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด ส่งผลให้ภายในสัปดาห์เดียว ค่าบาทเทียบกับดอลลาร์อ่อนยวบทันตาจากระดับ 32 บาทต้นๆ เป็นมากกว่า 33 บาท และอาจอ่อนต่อไปใกล้ๆ 34 บาทได้ สมใจคนเรียกร้องให้ลดค่าบาทกันเสียจริง
บาทอ่อน บาทแข็ง ดีหรือแย่ เป็นเรื่องถกเถียงไม่จบสิ้น คนที่ได้ประโยชน์ก็จะบอกว่าดี โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจส่งออก และไม่มีหนี้เงินกู้ดอลลาร์ ส่วนคนที่นำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูปหรือมีหนี้เงินสกุลต่างประเทศ ก็คงเจ็บตัวกันไปพอสมควร
เหตุผลของการลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะถ้าไม่ลด การส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ซึ่งมีปัญหามาตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้จะรุนแรงยิ่งขึ้น แม้ค่าบาทที่อ่อนหรือแข็งจะไม่ใช่ตัวแปรชี้ขาด แต่เป็นปัจจัยเสริมในลักษณะ“ฟางเส้นสุดท้าย” เท่านั้น
ตัวเลขการส่งออกที่เลวร้าย และกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอเพราะนโยบายห้ามปล่อยน้ำทำการเกษตรของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่ผ่านมาอ่อนแอ ส่งผลทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้ภาครัฐใช้จ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะด้านการลงทุน และภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่องแต่ราคาน้ำมันโลกที่ต่ำ เศรษฐกิจที่อ่อนแอ ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปติดลบและเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลง
ไม่เพียงเท่านั้น เม็ดเงินทุนในภาคการผลิตทั้งจากต่างประเทศและในประเทศที่ต่ำลง ทำให้ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงขาดดุล จากการที่นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าลงทุนในประเทศ กดดันให้เศรษฐกิจไทย ไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดหวัง สุ่มเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด แม้ผู้บริหารแบงก์ชาติและรัฐบาลจะพยายามพูดปลอบใจว่า เป็นแค่เงินเฟ้อติดลบ (disinflation) ไม่ใช่เงินฝืด (deflation) ก็ตาม
เศรษฐกิจภายในที่ย่ำแย่ แต่ค่าเงินบาทแข็งก่อนหน้านี้ เป็นแรงกดดันให้การส่งออกมีปัญหา คาดว่าปีนี้จะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ผู้ส่งออกรายใหญ่ และธุรกิจท่องเที่ยวขาเข้า พากันส่งเสียงเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย เป็นกระแสขึ้นมาเมื่อเดือนก่อน เป็นตัวกระตุ้นให้กนง.จำต้องเลือกเอาการลดดอกเบี้ยนโยบายผิดเวลาขึ้นมา
ไม่เพียงแค่ลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติยังกังวลว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าจริง ก็เลยออกมาตรการซ้ำอีกเป็นชุดใหญ่ เป็นการเปิดทางให้เงินไหลออกสะดวกขึ้น
มาตรการดังกล่าว เรียกว่า แนวทางผ่อนคลายเพิ่มเติมภายใต้แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ (ได้รับความเห็นชอบในหลักการจากนายสมหมาย ภาษี รมว.คลังแล้ว) รวมทั้งได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์อื่นเพิ่มเติมด้วย อ้างเหตุผลว่า เพื่อให้เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่เหมาะสมกับพื้นฐาน ประกอบด้วย
– สนับสนุนให้นักลงทุนในประเทศ ถือครองทรัพย์สินในสกุลเงินตราต่างประเทศได้มากขึ้น
– ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ให้คล่องตัวมากขึ้น เช่น ฝากเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินในประเทศโดยขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศ ซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากกับสถาบันการเงินในประเทศได้เสรี โดยมียอดคงค้าง จากเดิมที่ปีละไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทเพื่อให้บัญชีของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศไทย (นอนเรสซิเด้นท์) ทำธุรกรรมกู้เงินบาท กับสถาบันการเงินได้คล่องตัวยิ่งขึ้นด้วยการขยายวงเงินให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีการค้าการลงทุนในประเทศไทยรองรับจากเดิมไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อกลุ่มนอนเรสซิเด้นท์ เป็นไม่เกิน 600 ล้านบาท จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพ.ค.นี้
– อนุญาตให้สถาบันการเงินปล่อยกู้เงินบาทโดยตรงให้แก่นอนเรสซิเด้นท์เพื่อประโยชน์ทางการค้า การลงทุนในไทยและประเทศเพื่อนบ้านแต่ยกเว้นเพื่ออสังหาริมทรัพย์ และหลักทรัพย์ในประเทศ
– ผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านกู้ยืมเงินบาทโดยตรง
มาตรการดังกล่าว ยืนยันเจตนาชัดเจนว่า ทุนจะไหลเข้าออกเสรีมากขึ้น ไม่มีมาตรการเพื่อควบคุมเงินไหลเข้า-ออกต่างประเทศ (แคปปิตอลคอนโทรล) ซึ่งเคยเกิดขึ้นจนเกิดเหตุร้ายแรงในปลายปี 2549 มาแล้ว
เจตนาทำให้ค่าบาทอ่อนชัดเจนเช่นนี้ ทำให้ตลาดปรับตัวแรงเช่นกัน ซึ่งผลกระทบจากการที่ค่าบาทอ่อนตัวแรงมากใน 1 สัปดาห์นี้ จะเกิดผลกับตลาดเก็งกำไรและตลาดอื่นๆ รวมทั้งผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม แน่นอน
บางคนบอกว่า บาทจะอ่อนหรือแข็ง ไม่ใช่ปัญหา ถ้าค่อยๆ แข็งค่าหรือค่อยๆ อ่อนค่า ธุรกิจนำเข้าและส่งออกจะสามารถปรับตัวได้ทัน ปัญหาอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงที่เร็วจนเกินไป คนที่เกี่ยวข้องปรับตัวไม่ทันต่างหาก
ในทางปฏิบัติ ตลาดทองคำ ได้รับผลดี เพราะค่าบาทอ่อน ทำให้ราคาทองคำในประเทศลดต่ำน้อยลงกว่าตลาดโลก ที่กำลังลดลงเร็วมาก
ตลาดพลังงาน จะได้รับผลดี เพราะราคาน้ำมันที่เป็นขาขึ้น ผสมกับค่าเงินบาทที่อ่อน ทำให้กำไรของธุรกิจน้ำมันมากขึ้น เป็นทั้งกำไรปกติ และกำไรพิเศษ ราคาหุ้นน้ำมันทั้งหลายน่าจะวิ่งขึ้นต่อได้อีกไกลพอสมควร
ตลาดท่องเที่ยว ค่าบาทที่อ่อนจะทำให้นักท่องเที่ยวมาไทยมากขึ้นและจับจ่ายมากขึ้น หุ้นโรงแรม และเกี่ยวเนื่องจะได้รับประโยชน์โดยตรง
ธุรกิจส่งออกสินค้าและบริการ ได้รับประโยชน์เต็มที่เว้นแต่บริษัทที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบหรือกึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาผลิต ที่จะหักกลบกันไป ทำให้กำไรไม่มาก
ธุรกิจสายการบิน ที่มีรายได้จากเงินหลายสกุล อาจจะมีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน (โดยเฉพาะการบินไทย) แต่ธุรกิจที่รับเงินบาทมากกว่าจะได้รับประโยชน์เต็มที่
ธุรกิจที่มีรายได้จากต่างประเทศมากกว่าในประเทศ จะมีกำไรพิเศษเพิ่มขึ้นโดดเด่นในไตรมาสสองนี้ บางบริษัทที่กำไรปกติไม่สวย ก็จะบรรเทาลงไปมาก หรือพลิกมีกำไรมากขึ้น
ส่วนธุรกิจที่มีหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูง อาจจะมีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเสริมเข้ามาในงบกำไรขาดทุน
ผลกระทบเช่นนี้ ยังต้องคำนึงถึงพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นของต่างชาติในตลาดหุ้นประกอบด้วย ที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่ค่าบาทอ่อนยวบ เงินทุนเก็งกำไรต่างชาติจะทิ้งเงินบาทเพื่อไปถือดอลลาร์แทน เป็นปฏิกิริยา “เข่ากระตุก” ที่ต้องเกิดขึ้น
การลดดอกเบี้ยนโยบาย และค่าบาทอ่อน จึงเป็นปฏิบัติการไล่ทุนต่างชาติออกจากตลาดหุ้น ที่เข้าใจกันมานาน จนเป็นจารีต
โจทย์ที่ท้าทายนับแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปคือ หากการขายสุทธิแรงของต่างชาติในกระดานหุ้นเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนหยุดยาว ยังดำเนินต่อไป ก็ต้องถือเป็นเหตุการณ์ปกติ ทำนอง “แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง”
ในทางตรงกันข้าม หากสัปดาห์นี้ เกิดต่างชาติเปลี่ยนให้กลับเข้ามาซื้อระลอกใหม่และต่อเนื่อง ดันดัชนีกลับขึ้น ฝ่าแนวต้านใหม่ไปได้สวยงาม ก็จะเป็นบทเรียนใหม่สำหรับนักลงทุนว่า การลดค่าเงินบาท อาจจะไม่ทำให้ต่างชาติหลบหนีจากไป เป็นประเด็นให้พิจารณา
ปีนี้เป็นปีพิเศษ มีบทเรียนยากๆ ให้นักลงทุนทุกกลุ่มได้ใคร่ครวญเป็นการบ้านยามนอนไม่หลับมากมาย